ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 โดยสภาประชากร (Population Council) สำนักงานประเทศไทย ร่วมกับ Gynuity Health Project สหรัฐอเมริกา ได้เริ่มนำยาไมโซพรอสตอล (ไซโตเทค) มาใช้รักษาอาการแท้งไม่ครบในผู้รับบริการที่มีอายุครรภ์ที่ไม่เกิน 63 วัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ทางสภาประชากร ร่วมกับ Gynuity Health Project สหรัฐอเมริกา และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ 

ได้นำยามิฟิพริสโตน (Ru486) มาใช้ร่วมกับยาไมโซพรอสตอล (ไซโตเทค) ในการวิจัยทางคลินิกเพื่อยุติการตั้งครรภ์ในระยะแรก ในผู้ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 63 วัน หรือไม่เกิน 9 สัปดาห์ ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า 

การใช้ยามิฟิพริสโตน ร่วมกับยาไมโซพรอสตอล สามารถยุติตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับในผู้รับบริการในประเทศไทยค่อนข้างสูง อีกทั้งช่วยลดความจำเป็นในการทำหัตการ

ในระหว่างเดือนเมษายน 2555 ถึงเดือนเมษายน 2556 สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับมูลนิธิคอนเซ็พท์ เครือข่ายนักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคม ริเริ่มศึกษาการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ในระบบบริการสุขภาพ โดยศึกษาตำหรับยา Medabon ซึ่งประกอบด้วย ยามิฟิพริสโตน 200 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด และไมโซโพรสตอล 200 ไมโครกรัม จำนวน 4 เม็ด บรรจุในแผงเดียวกันทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องระบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา และประสานให้เกิดการขึ้นทะเบียนยาไปพร้อมๆ กัน เพื่อประเมินรูปแบบที่ดีที่สุดในการให้บริการยุติตั้งครรภ์ในบริบทของสังคมไทย

ในการเข้าถึงยา โดยเริ่มทำการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ 3 แห่ง ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 6 จังหวัดขอนแก่น สังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อีก 1 แห่ง

ผลการศึกษาพบว่า

  • มีผู้รับบริการที่แท้งสมบูรณ์ 197 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.17
  • แท้งไม่สมบูรณ์ 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.86
  • ไม่สามารถติดตามมาตรวจติดตามผล 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.97

เมื่อคำนวณประสิทธิภาพของยาโดยคำนวณจากจำนวนผู้รับบริการทั้งหมดที่ยุติการตั้งครรภ์โดยสมบูรณ์ด้วยการใช้ยา หารด้วยจำนวนผู้รับบริการที่มาติดตามผลหลังการใช้ยาทุกราย พบว่า ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการศึกษาระยะที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 96.09

ต่อมามูลนิธิคอนเซ็พท์ ร่วมกับสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคม ได้ขยายโครงการศึกษาเพิ่มอีก 5 แห่งในต่างจังหวัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำยาดังกล่าวมาใช้ในระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทยในโรงพยาบาลระดับต่างๆ สำหรับโรงพยาบาล 5 แห่งที่ขยายออกไป ประกอบด้วย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลแพร่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ผลการศึกษาพบว่า

  • ผู้รับบริการ 198 รายแท้งสมบูรณ์ คิดเป็นร้อยละ 88.79
  • แท้งไม่สมบูรณ์ 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.42
  • ไม่สามารถติดตามมาตรวจติดตามผลได้ 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.79

เมื่อคำนวณประสิทธิภาพของยาโดยคำนวณจากจำนวนผู้รับบริการทั้งหมดที่ยุติตั้งครรภ์โดยสมบูรณ์ด้วยการใช้ยาหารด้วยจำนวนผู้รับบริการที่มาติดตามผลหลังจากใช้ยาทุกราย พบว่า ประสิทธิภาพของยาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90.41

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 4

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้