เส้นทางสีเทากับภารกิจภายใต้แรงกดดันของคุณหมอผู้ยึดมั่นในหลักคิดและสิทธิของเธอ

น้องอาย (ชื่อสมมติ) สาวน้อยวัย 16 นอนหมดสติอยู่บนเตียงคนไข้ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลด้วยอาการตกเลือด คุณหมอไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขูดมดลูกและรักษาอาการติดเชื้อให้กับเธอ

ย้อนหลังกลับไป 48 ชั่วโมง เธอเลือกแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมด้วยใช้ยาทำแท้งซึ่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ และแม้ว่าหลังจากนั้นตัวอ่อนขนาด 1-2 นิ้วจะหลุดออกมาแต่สายรกกลับยังค้างอยู่ เธอเริ่มมีไข้และเลือดออกมาก แต่ไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะเกรงว่าจะรู้ถึงผู้ปกครอง รอจนอาการเข้าขั้นวิกฤติจึงได้ร้องขอความช่วยเหลือ..

ข้อมูลจากบันทึกของเจ้าหน้าที่กลุ่มทำทาง ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องทำแท้งอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ระบุว่า แม้น้องอายจะได้รับการรักษาจนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ แต่หลังจากนั้นอาการติดเชื้อก็ทรุดลงไปอีกและเสียชีวิตในที่สุด

“เราอยู่ในวงการสาธารณสุข เห็นเรื่องแบบนี้บ่อยๆ เห็นคนไปทำแท้งเถื่อนมาเยอะมาก หลายคนบาดเจ็บ บางคนเสียชีวิต” นพ.วรชาติ มีวาสนา คุณหมอ ‘หนุ่ม’ จากโรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา บอกระหว่างการบรรยายถึงที่มาที่ไปในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายอาสา RSA (Referral system for Safe abortion) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ด้วยการใช้ยา หรือใช้เครื่องดูดโพรงมดลูกอย่างปลอดภัย ตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก

ตราบาป / นักบุญ : “เริ่มต้นตอนแรกผมก็มีอคติเหมือนกับทุกๆ คน คือมีความคิดว่าการทำแท้งเป็นบาป มันถูกหล่อหลอมมาโดยสถาบันการศึกษา ศาสนา ซึ่งก็ไม่แปลกทุกคนก็เชื่ออย่างนั้น จนกระทั่งประมาณปี 2551-52 ผมไปที่ขอนแก่น อบรมการใช้เครื่องมือ MVA (Manual Vacuum Aspiration) เพื่อใช้ในกระบวนการทำแท้ง ตอนนั้นไปเพราะอยากได้เครื่องมือไม่ได้มีความคิดอื่นเลย ผมแต่งงานแล้ว และคิดว่าการทำแท้งเป็นเรื่องบาป กฎหมายก็ห้ามทำ แล้วข่าวก็เยอะมากเลย หมอถูกจับทลายคลินิกทำแท้งเถื่อน เราก็เชื่ออย่างนั้นมาตลอดว่ามันเป็นความผิด

แต่พอเราไปฟังอาจารย์หลายๆ ท่านที่เป็นปูชนียบุคคลที่บุกเบิกในเรื่องนี้ เปิดโลกทัศน์ของเรา แล้วโดยตัวตนของเราเองก็เห็นปัญหาอยู่แล้วว่า เวลามีเคสแบบนี้ถ้าหมอพยายามจูงใจให้ท้องต่อ โดยไม่สนใจว่าคนไข้จะเป็นอะไรยังไง ปัดขยะเข้าไปในพรม โดยไม่ดูว่าสภาพความพร้อมเขาเป็นอย่างไร สุดท้ายเขาก็ไปหลังโรงพยาบาล ไปทำแท้งเถื่อน ใช้ไม้แขวนเสื้อ ใช้อะไรแล้วแต่ที่เขาจะมี“

หมอวรชาติ 1 ในแพทย์เครือข่าย RSA (Referral system for Safe abortion) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อรับ-ส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงท้องไม่พร้อม เล่าความคิดต่างที่อยู่เบื้องหลังบทบาทอัน”หมิ่นเหม่” นี้ว่า แม้จะมีแรงกดดันอยู่ไม่น้อยแต่สิ่งที่เขานึกถึงเสมอคือ “คนไข้” ผู้เป็นเจ้าของสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง

“ผมเชื่อว่าทุกๆ คนมีความคิดที่จะเลือกด้วยตัวเอง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นเขาต้องรับเอง และถ้าเขาเลือกที่จะทำผมยินดีที่จะทำให้ ถ้าเขาเลือกที่จะท้องต่อผมยินดีที่จะดูแลให้”

ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์จะสามารถเดินมาหาหมอแล้วแจ้งความจำนงได้ กฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยยังเป็นหลักอันแข็งแรงในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 (1) (2) และมาตรา276, 277, 282, 283 และ 284 ประเทศไทยกำหนดให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์โดยแพทย์ได้ใน 6 กรณี คือ

    1. การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายของผู้หญิง
    2. การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางใจของผู้หญิง
    3. ทารกในครรภ์มีความพิการ
    4. การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืนกระทำชำเรา
    5. การตั้งครรภ์ในเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี
    6. การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับ ข่มขู่ เพื่อทำอนาจารสนองความใคร่


ที่ผ่านมาแม้ช่องทางตามกฎหมายจะเปิดทางเลือกไว้ให้กับผู้หญิงพอสมควร แต่อคติต่อการทำแท้ง ความรู้สึกผิดบาป ก็ทำให้คุณหมอส่วนใหญ่ปฏิเสธและพยายามโน้มน้าวให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเลือกที่จะท้องต่อ ส่วนคุณหมอที่เห็นต่างก็ต้องเผชิญกับความรู้สึกแปลกแยก

“ถามว่าเวลาเราทำงาน เราเหนื่อยมั้ย กดดันมั้ย ผมว่าทุกคนมี แต่ผมโชคดีที่ในเส้นทางนี้ผมมีผู้อำนวยการที่ดี มีพยาบาลที่ดี มีภรรยาที่ดี มีแบ็คที่ดี แต่ในความเป็นจริงคนที่จะเข้ามาใหม่แล้วเป็นแบบผมไม่ได้มีเยอะหรอก” คุณหมอหนุ่มเล่าว่าทุกวันนี้ยังมีคนมาพูดว่า…มีเด็กเกาะหลังเต็มเลย “ก็ไม่แปลก ผมได้ออกกำลังกายทุกวัน ไม่เห็นมีปัญหาอะไร”

ทว่า กว่าจะผ่านมาถึงจุดที่เรียกว่า “ไม้หลักปักซีเมนต์” ได้
เขาบอกว่าต้องชัดเจนว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็น “บุญ” ไม่ใช่ “บาป”

“ที่เราทำมันโอเค มีทิศทางที่ถูกต้อง เราไม่ได้ได้เงินจากการทำ เราทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย คนที่ผ่านกระบวนการจากเราไป ทุกคนออกไปด้วยรอยยิ้ม ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Safe abortion เราแฮปปี้”

บาปบุญ / คุณโทษ ทั่วโลกมีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 21.6 ล้านครั้งต่อปี ในจำนวนนี้ 18.5 ล้านครั้งเกิดในประเทศกำลังพัฒนา มีผู้หญิงตายจาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 45,000 คนต่อปี เกือบทั้งหมดเกิดในประเทศกำลังพัฒนา (ตัวเลขคาดประมาณในปี 2557) ค่าใช้จ่ายในการทำแท้งเฉลี่ย 2,654 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งเฉลี่ย 21,024 บาท

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม หยิบยกสถิติผู้หญิงบาดเจ็บและตายจากการท้องและการทำแท้งมาแสดงในโอกาสการประชุมเรื่อง “แชร์ต่อไป—เพื่อไม่ให้ผู้หญิงไทยตายจากการทำแท้ง” พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า “ประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเรื่องการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้หญิงที่ตั้งท้องแล้วไปทำแท้ง ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายเรายังเอาผิด เราจะพลิกสถานการณ์ใต้ภูเขาน้ำแข็งนี้ขึ้นมาอยู่บนดินได้อย่างไร”

สอดคล้องกับมุมมองของ นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผช.ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ที่เห็นว่าที่ผ่านมาบ้านเรามีแต่ตัวเลขจากการคาดการณ์ เนื่องจากการทำแท้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกระบบ ตัวเลขจะมาจากคนที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนของการทำแท้งเท่านั้น แต่ถ้าให้ประเมินจากประสบการณ์คุณหมอบอกว่า…มากจนน่าตกใจ

“เวลาที่ไปจับกันแต่ละเจ้า ยอดขาย (ยาทำแท้ง) เขาเดือนละ 2 -3 พัน ทางกรมอนามัยเราเอายามาใช้ได้ถึง 2-3 ปีนะครับ” ประเด็นก็คือ แม้จะรู้ปัญหาแต่ก็ยังมีข้อจำกัดมากมายที่จะทำให้การยุติการตั้งครรภ์อยู่ในระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางกฎหมายหรือศีลธรรม

“ทางกรมอนามัยเราก็พยายามจะผลักดันให้มีเครือข่าย RSA เพราะว่าที่ผ่านมาในบ้านเราก็มีแพทย์อยู่จำนวนหนึ่งที่รับให้บริการยุติการตั้งครรภ์ แต่ก็น้อยมากอย่างที่ทราบกัน การให้บริการลักษณะนี้จะเจอแรงเสียดทานเยอะ ทั้งจากผู้อำนวยการเอง จากคนรอบๆ ตัวก็ตามที” เครือข่ายดังกล่าวไม่เพียงสนับสนุนแพทย์ที่ต้องปฏิบัติภารกิจสวนทางกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ยังสร้างโอกาสและทางเลือกที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงที่มีความจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์

เราต้องการให้สังคมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีเกียรติ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนเมื่อก่อน”

นพ.บุญฤทธิ์ ย้ำถึงความสำคัญของการปรับทัศนคติที่จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและเศรษฐกิจที่เกิดจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งอยากให้สังคมได้ใคร่ครวญมากขึ้นในกระบวนการตัดสินใจว่าควรจะ “ยุติ” หรือ “ท้องต่อ” คือความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

“การแท้งไม่ปลอดภัยมันเป็นแค่สวนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น มันยังมีส่วนที่หนักหนากว่านั้นอีกเยอะ เช่น เคสที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ แล้วสุดท้ายก็ต้องคลอดออกมาโดยที่ยังไม่พร้อมก็นำไปสู่ปัญหาการทิ้งเด็ก เด็กโดนทำร้าย โดนฆ่า ซึ่งข่าวหลังๆ ก็เห็นเยอะไม่เว้นแต่ละวัน” ถึงที่สุด การหลีกเลี่ยงตราบาปจากการทำแท้ง จึงอาจกลายเป็นการสร้าง “เคราะห์กรรม” ให้กับเด็กที่เกิดมาโดยไม่ตั้งใจ

“เรามักไม่ค่อยคิดถึงเด็กที่คลอดออกมาแล้วได้รับการเลี้ยงดูทั้งๆ ที่ไม่พร้อม ซึ่งนำไปสู่ประชากรที่ด้อยคุณภาพ สุดท้ายถ้าสัดส่วนของประชากรที่ถูกเลี้ยงโดยไม่พร้อมมันเยอะขึ้นๆ มันก็จะส่งผลต่อโครงสร้างประชากรทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ สำหรับประชากรไทยในอนาคต คือปัญหามันไม่ได้หยุดแค่ว่าจะได้ทำแท้ง หรือไม่ได้ทำแท้งอย่างเดียว”

สิทธิเธอ / ศีลธรรม : ข้อถกเถียงที่มีมายาวนานของกลุ่มที่เรียกว่า Pro-Life ซึ่งยึดแนวคิดเรื่องสิทธิของทารกที่จะมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมจรรยา กับอีกขั้วความคิดที่เห็นว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้หญิงในการที่จะกำหนดชีวิตตัวเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในนามของ Pro-Choice แม้จะยังเป็นวิวาทะที่ไม่สิ้นสุด

แต่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้หญิงจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่สังคมไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ยาทำแท้งและบริการเถื่อนโฆษณากันเกลื่อนโลกออนไลน์ แนวทางการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องนำเรื่องใต้พรมมาตีแผ่แก้ไขกันให้ตรงจุด

“ผมมองว่าปัญหาหลักปัญหาหนึ่ง คือเราเชื่อกันว่าถ้าเราปล่อยให้ทำแท้งกันได้ง่ายๆ คนจะทำแท้งกันมากขึ้น จะส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของเมืองพุทธของบ้านเรา เราทำอย่างไร ก็ออกกฎหมายมาห้าม ไม่ให้ทำได้ง่ายๆ นอกจากออกกฎหมายมาห้ามแล้ว คนที่จะทำให้หรือคนที่จะไปทำก็ถูกตีกรอบด้วยเรื่องของบาปบุญ หมอเองก็ไม่อยากทำเพราะกลัวบาป คนไข้เองก็ไม่กล้าไปทำเพราะกลัวบาป บางทีก็ตั้งครรภ์ต่อ แล้วก็เลี้ยงทั้งๆ ที่ไม่พร้อม หรือแม้แต่บางที่แพทย์พยาบาลอยากจะทำแต่ก็โดนสังคมรอบข้างกดดันว่า เธอจะมาเปิดบริการแบบนี้ในโรงพยาบาลได้อย่างไร ทำให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลทำแท้งหรือเปล่า”

ผลลัพธ์ก็คือ การทำแท้งไม่ได้ลดลง เพียงแต่สังคมรับรู้ได้น้อยลง ขณะเดียวกันการทำแท้งเถื่อนกลับเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่วนการทำแท้งอย่างปลอดภัยในโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องลับเฉพาะ

“ปัญหาใหญ่ที่สุดของบ้านเราตอนนี้ก็คือการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย เพราะว่าเคสท้องไม่พร้อมแต่ละปีเยอะมาก แต่หน่วยบริการของเรามีน้อย และบางทีผู้ประสบปัญหาก็ไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ทางกรมอนามัยจึงร่วมกับทางมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และแอคเซส ดำเนินโครงการ 1663 แล้วก็มี เลิฟแคร์สเตชั่น มีเครือข่าย RSA เพื่อเข้าถึงตรงนี้ หลักการก็คือเมื่อเคสที่ท้องไม่พร้อมโทรมาปรึกษา 1663 ก็จะให้การปรึกษาถึงทางเลือกเบื้องต้น แล้วถ้าเขาต้องการยุติการตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์ต่อก็มีเครือข่ายที่พร้อมจะรองรับต่อไป” นพ.บุญฤทธิ์ ให้ข้อมูล

“เรื่องการดูแลการท้องไม่พร้อมไม่ใช่เรื่องของการหาที่ทำแท้งให้อย่างเดียว บางคนก็อยากท้องต่อ บางคนก็ต้องการการช่วยเหลือด้านอื่นเหมือนกัน เพียงแต่เคสที่ต้องการยุติมันอาจจะเยอะหน่อย เพราะที่ผ่านมาบ้านเราช่องทางการเข้าถึงอันนี้มันค่อนข้างจำกัดมาก พอมีช่องทางให้เขาโทรเข้ามาปรึกษาได้ ส่วนใหญ่ที่โทรเข้ามาก็เลยเป็นเคสที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์มาก่อนหน้านี้แล้ว”

สุดท้ายไม่ว่าทางเลือกนั้นจะลงเอยอย่างไร สังคมก็ยังจำเป็นต้องมอบทางที่ปลอดภัยให้กับเธอ รวมถึงการเคารพสิทธิในการเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/757148

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 5

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้