พอจะได้แก้ไขก็มีการประท้วง น่าตลกที่ว่าบางครั้งการประท้วงเกิดจากคนๆเดียว (ที่ไม่มีโอกาสทำให้ภรรยาท้องได้ ไม่เคยมีโอกาสเลี้ยงเด็กดาวน์ ไม่มีโอกาสดูแลคนไข้แท้งติดเชื้ออาการปางตาย) การตัดสินปัญหาก็ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

วันที่ 27 มิถุนายน 2550 

วันนี้เป็นวันพุธกลางสัปดาห์ ตื่นขึ้นมาไม่รู้กี่โมง แต่นอนกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่นานจนนาฬิกาปลุก กว่าจะออกจากที่พักก็ 7.15 น. รถราพลุกพล่านทีเดียว วันนี้ทำงานในคลินิกทั้งเช้าและบ่าย คนไข้ไม่ค่อยมาก ช่วงเช้าเราเปิด 4 ห้อง (สืบเนื่องจากการประชุมเมื่อวาน) สามารถเลิกคลินิกได้ภายในเวลา 11.30 น. ครูหาญเลยพอใจ

ตอนเที่ยงผมแวะไปที่ห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือมาอ่านหน่อย วันนี้ยืมหนังสือ urodynamic มาอ่าน เรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจในวันนี้คือ ได้มีโอกาสเหลียวมองรอบตัวบ้าง ก็พบว่าห้องสมุดของ KKH นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ไปในตัว เพราะมีการจัดแสดงเรื่องราวเก่าๆ ตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว เลยได้รู้ว่า KKH นั้นย่อมาจาก Kandang Kerbau ชื่อนี้มาที่มาครับ

ทราบมาว่าในสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งของโรงพยาบาลซึ่งอยู่ในเขต Little India ซึ่งตอนนั้นคนอินเดียที่เดินทางมาเขานิยมทำปศุสัตว์ บริเวณนั้นมีแม่น้ำเล็กๆไหลผ่าน อันเป็นทำเลที่ดีมาก บริเวณนี้จึงมีคอกเลี้ยงวัวควายอยู่มากมาย Kandang แปลว่าคอกหรือที่กั้น ส่วน Kerbau แปลว่าควาย (ลองอ่านดีๆ นะครับ เขาอ่านว่า คาราบาว เป็นภาษามาเลย์) ฉะนั้น KKH จึงแปลว่า โรงพยาบาลคอกควายนั่นเอง

สิ่งที่ผมประทับใจอย่างมาก ณ ที่นี้ก็คือ เขาเก็บอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ไว้แสดงให้ดูมากมาย เช่น ตุ๊กตาเด็กที่ใช้ในการสอนทำคลอด ซึ่งเก่ามากจนดูน่ากลัว เครื่องมือช่วยคลอดสมัยต่างๆ คีมเครื่องดูดสุญญากาศ เครื่องมือทำแท้ง

เริ่มต้นโรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลที่รักษากามโรค แต่ต่อมาถูกวางให้เป็นโรงพยาบาลสถานดูแลครรภ์ เขาตั้งชื่อว่า KK Maternity Hospital ก่อนจะกลายมาเป็น KK Women’s and Children’s Hospital ดังเช่นในปัจจุบัน ที่นี่เคยถูกบันทึกไว้โดย Guinness Book of World Records ว่าเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 1966 และ 1976

นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็กแล้ว เขายังให้บริการการยุติการตั้งครรภ์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาลเลยเชียว ผมได้เห็นอุปกรณ์การยุติการตั้งครรภ์แบบต่างๆ ทั้งที่ใช้ในช่วงแรกจนกระทั่งถึงช่วงก่อนคลอด อย่างที่พวกผมเรียกว่า หัตถการทำลายเด็ก ฟังดูแล้วอาจจะน่าหวาดเสียวสำหรับหลายคน แต่อย่าลืมว่าในสมัยก่อนที่การแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า ไม่สามารถให้บริการผ่าท้องคลอดได้ หรือที่เรียกว่าหากผ่าแล้วแม่ตายแน่ ดังนั้นในกรณีที่ทารกมีปัญหาหรือไม่สามารถให้คลอดทางช่องคลอดได้ หรือมดลูกจะแตก เขาจะต้องทำให้เด็กในครรภ์เสียชีวิตก่อนแล้วคีบออกมา คิดดูครับว่าน่ากลัวและน่าสงสารขนาดไหน ผมดูเครื่องมือไปก็ขนลุกไป เทียบกับสมัยนี้ที่การดูแลดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก การผ่าตัดคลอดสามารถทำได้อย่างง่ายดาย หรือแม้กระทั่งการยุติการตั้งครรภ์ก็สามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ จนถึงตัวโตย่างเข้ามาถึงไตรมาสที่สองแล้วก็ยังปลอดภัย

ที่ KKH นี้ เขาให้บริการยุติการตั้งครรภ์กันเป็นเรื่องปกติมากครับ ทุกวันจะมีการขูดมดลูกในห้องผ่าตัดประมาณ 10 ราย และอีกกี่รายไม่ทราบได้ในห้องผ่าตัดเล็ก (ผมเคยแอบนับดู ก็ราวๆ 15-20 รายก็มี) นี่ขนาดรัฐบาลเขาต้องการเด็กนะครับ แต่รัฐบาลเขายังเล็งไปไกลมากกว่านั้น ก็คือเขาต้องการเด็กที่มีคุณภาพ หากออกมาแล้วไม่มีคนเลี้ยงหรือเลี้ยงไม่ดีก็คงจะแย่ เขาจึงอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้

อีกอย่างก็คือ ผู้หญิงของเขาจะได้ไม่มีการไปทำแท้งเถื่อนให้ติดเชื้อเล่นเหมือนที่บ้านเราครับ คนไข้ก็ได้รับการดูแลจากหมอและพยาบาลอย่างเท่าเทียบกับคนไข้อื่นๆ หมอที่ทำแท้งให้ก็ได้เงินไปไม่ว่าจะเป็น consultant หมอใช้ทุน (MO) หรือ registra และเงินที่ได้รับก็เป็นเงินที่หมุนเวียนในระบบของโรงพยาบาลเองด้วย ดูเหมือนบุคลากรทุกคนจะยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ อย่างที่บอกเขาแคร์เรื่องการแท้งติดเชื้อที่ส่งผลเสียต่อผู้หญิงของเขามากเหนือกว่าสิ่งใดจริงๆ

ประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เขาจะคิดถึงความต้องการพื้นฐานและความปลอดภัยของพลเมืองของเขามากกว่าสิ่งใด (ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นเรื่องการทำแท้งเท่านั้นนะครับ) ทั้งๆ ที่เขามีคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนามาอยู่ร่วมปะปนกันก็ยังไม่มีปัญหา

เมื่อมาเปรียบเทียบกับบ้านเราแค่เรื่องกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ ก็มีการถกเถียงกันมามากว่า 20 ปี แก้หรือไม่แก้ดี พอจะได้แก้ไขก็มีการประท้วง น่าตลกที่ว่าบางครั้งการประท้วงเกิดจากคนๆ เดียว (ที่ไม่มีโอกาสทำให้ภรรยาท้องได้ ไม่เคยมีโอกาสเลี้ยงเด็กดาวน์ ไม่มีโอกาสดูแลคนไข้แท้งติดเชื้ออาการปางตาย) การตัดสินปัญหาก็ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นักการเมืองก็เป็นห่วงเสียงตัวเองมากไปกว่าความต้องการหรือความปลอดภัยของประชาชน บ้านเมืองเราจึงเป็นแบบนี้ยังไงเล่า

วันนี้กลับที่พักได้เร็ว เพราะตอนบ่ายก็สามารถจัดการเคลียร์คนไข้ได้รวดเร็วดีจริงๆ อยากจะเขียนเรื่อง แผนการในใจที่คิดจะเปิดคลินิกซ่อมช่วงล่างที่ ม.อ.บ้าง ก็คงต้องเป็นครั้งหน้า

ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/106840 โดย ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 0 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 0

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้