1. ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ตัวยาเป็นฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเช่นเดียวกับยาฉีดคุมกำเนิด กลไกการคุมกำเนิด คือ ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียวจนตัวอสุจิผ่านเข้าโพรงมดลูกได้ยาก และยับยั้งการตกไข่

2. สามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลา 3 ปี และ 5 ปี แล้วแต่ชนิดของยา ให้ประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99

3. การฝังยาฝังคุมกำเนิด จะฝังหลอดยาบริเวณต้นแขนด้านใน กึ่งกลางระหว่างรักแร้และข้อศอก เข้าไปใต้ผิวหนังแผลจะเล็กมากไม่ต้องเย็บแผลเพียงปิดด้วยพลาสเตอร์เล็ก ๆ แผลจะหายเป็นปกติภายใน 3-5 วัน หลังจากทำไปแล้วไม่ให้ถูกน้ำ 7 วัน เมื่อครบ 7 วัน จะนัดมาดูแผลอีกครั้ง

4. ควรรับการฝังยาฝังคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรกของรอบประจำเดือน หรือภายหลังแท้งไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังคลอดไม่เกิน 4-6 สัปดาห์

5. **หลังการยุติการตั้งครรภ์ การเจริญพันธุ์จะกลับมาเป็นปกติในเวลาอันสั้น โดยอาจมีการตกไข่ได้ในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์เท่านั้น**

6. ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด ได้แก่

1. ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง
2. สะดวกเมื่อใช้ยาฝังคุมกำเนิดแล้วไม่ต้องกังวลในเรื่องหลงลืม เหมือนวิธีการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือยาฉีด
3. อาการข้างเคียงน้อย
4. ไม่มีผลต่อการหลั่งของน้ำนม สามารถใช้ในสตรีระยะให้นมบุตร
5. ไม่ทำให้การทำงานของตับเปลี่ยนแปลง
6. ใช้ได้นาน คุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี
7. มีผลพลอยได้จากผลของการใช้ฮอร์โมนโปรเจสโตเจน เช่น ป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลง
8. ภาวะการเจริญพันธุ์ภายหลังการใช้ยาฝังคุมกำเนิดคืนสู่ภาวะปกติได้เร็ว เนื่องจากฮอร์โมนกระจายออกในปริมาณน้อย และไม่มีการสะสมในร่างกายเมื่อหยุดใช้ยาสามารถมีบุตรได้ตามปกติ

7. หลังการฝังยาแล้วจะมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น คือ มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ซึ่งไม่นานเลือดอาจจะหยุด หรือไม่มีประจำเดือนมาก็ได้ บางรายอาจจำเป็นต้องให้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 0.05 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด ประมาณ 7-10 วัน เพื่อลดอาการเลือดออกกะปริดกะปรอย อาการข้างเคียงที่อาจพบได้น้อยมาก คือ น้ำหนักตัวเพิ่ม สิว ปวดศีรษะ บางรายอาจพบการระคายเคือง ปวด หรือแดงเล็กน้อยบริเวณที่ฝังยา แต่ก็อาจพบอยู่ได้ชั่วระยะเวลาสั้น

8. การฝังยาฝังคุมกำเนิดไม่มีผลทำให้อ้วน หรือ ผอม และไม่ทำให้เกิดฝ้า หรือ หน้าดำ อาการมึนศีรษะที่เกิดขึ้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับยาฝังคุมกำเนิด แต่ควรหาสาเหตุที่แน่นอนเสียก่อน

9. เข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลที่มีบริการดังกล่าวได้โดย วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี และทุกช่วงวัยหลังยุติการตั้งครรภ์ รับบริการฟรี โดยสามารถตรวจสอบสถานบริการสุขภาพที่ปลอดภัยได้ที่เว็บไซต์เครือข่ายอาสา RSA : https://rsathai.org/healthservice

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 28

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้