โครงการวิจัยรูปแบบการจัดระบบบริการ
การยอมรับการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยาในประเทศไทย
เรณู ชูนิล ดร.วรรณภา นาราเวช

HEALTH_Vol39No1_04

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องรูปแบบการจัดระบบบริการและการยอมรับการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยาในประเทศไทย วัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดระบบริการการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยา และการยอมรับบริการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยาของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ อันจะนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาการจัดระบบริการและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพต่อไป วิธีการศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informants) ทั้งผู้ให้บริการ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ผู้รับบริการ รวมทั้งผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยารวม 30 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) 

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดระบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยามิฟิพริสโตน ร่วมกับ ไมโซพรอสตอล ชนิดบรรจุแผงเดียวกันในสถานบริการส่วนใหญ่จะถูกบูรณาการเข้ากับระบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่มีอยู่เดิมในรูปแบบ one stop service ที่ผู้รับบริการสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการโดยตรง มีการรักษาความลับของผู้รับบริการได้มาก และการใช้ยาดังกล่าวเพื่อยุติการตั้งครรภ์เป็นที่ยอมรับจากทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย สะดวก ง่ายต่อการใช้สำหรับผู้รับบริการ มีผลข้างเคียงน้อย เป็นวิธีที่เหมือนธรรมชาติ ช่วยลดภาระของแพทย์ในการให้บริการ ลดการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการ เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกเป็นส่วนตัว 

อย่างไรก็ตาม การให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยใช้ยา ยังคงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ให้บริการและคนในสังคมไทยให้เห็นของความจำเป็นของการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยด้วยทางเลือกที่มีเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานบริการต่างๆ ที่ให้บริการมีทีมแพทย์พี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับแพทย์ที่เริ่มใช้ยา มีความเข้าใจและมั่นใจในการใช้และการสั่งจ่ายยา อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผุ้ให้บริการที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน และสุดท้ายให้มีการส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้ให้บริการและผู้รับบริการในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา

ที่มา : วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2559

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 2

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้