การศึกษาภาวะซึมเศร้าของสตรีตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ โดย นพ.ภุชงค์ ไชยชิน นางวิจิตรา วาลีประโคน

…หลังการยุติการตั้งครรภ์ พบว่า ผู้รับบริการส่วนใหญ่มีระดับภาวะซึมเศร้าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งในกลุ่มที่ผิดปกติ พบว่าเป็นผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางถึงมากที่สุด จึงตอบคำถามการวิจัยได้ว่าภาวะซึมเศร้าหลังการยุติการตั้งครรภ์ของผู้รับบริการส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติและ เมื่อเปรียบเทียบระดับภาวะซึมเศร้าก่อนและหลังยุติการตั้งครรภ์ พบว่า ผู้รับบริการส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้าที่ลดลงซึ่งแสดงว่าผลการรักษาดีขึ้น แต่ก็ยังพบว่ามีผู้รับบริการร้อยละ 10.3 ที่ระดับภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งคล้ายกับการศึกษาของ Christensen และคณะ ที่พบว่าสตรีตั้งครรภ์ไม่ตั้งใจมีภาวะซึมเศร้าในระยะหลังคลอด ร้อยละ 10.2 และเมื่อทดสอบด้วยค่าทางสถิติพบว่า ระดับภาวะซึมเศร้าหลังรับบริการยุติการตั้งครรภ์แตกต่างจากกันก่อนรับบริการอย่างมีนัยสำคัญ (p <0.001) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 จึงตอบคำถามการวิจัยได้ว่า ระดับของภาวะซึมเศร้าหลังรับบริการยุติการตั้งครรภ์ของสตรีที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่คลินิกวัยรุ่น รพ.ห้วยราช ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลจากกระบวนการต่างๆ ของการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้การปรึกษาทางเลือก การให้บริการจิตบำบัด รวมถึงการยุติการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาของผู้รับบริการ (Problem solving)

ผู้รับบริการร้อยละ 97.2 เห็นว่าบริการนี้สามารถแก้ไขปัญหาให้ตน แต่เมื่อสอบถามต่อว่าจะแนะนำผู้ที่มีปัญหาเช่นเดียวกับตนให้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ กลับมีผู้รับบริการที่ตอบว่าไม่แนะนำและไม่แน่ใจคิดเป็นอัตราส่วน 1.2 ต่อ 1 เช่นเดียวกับเมื่อพิจารณาผู้ที่ผลการรักษาดีขึ้นว่า จะแนะนำผู้ที่มีปัญหาเช่นเดียวกับตนให้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ พบว่า มีผู้รับบริการที่ตอบว่าแนะนำเทียบกับส่วนที่เหลือซึ่งตอบว่าไม่แนะนำและไม่แน่ใจคิดเป็นอัตราส่วน 1.1 ต่อ 1

ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสตรีเหล่านี้รู้สึกว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของการสูญเสีย และเป็นความลับ อีกทั้งสังคมทั่วไปมักมองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องบาปและผิดศีลธรรม ดังที่กล่าวในผลการวิจัยของกนกวรรณ ธราวรรณ (อ้างในจตุพร ไชยสุวรรณ) ผู้รับริการบางส่วนจึงยังซึมเศร้าหรือยังรู้สึกผิด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาด้านอารมณ์ที่ตอบสนองต่อการสูญเสีย (Vacarolis อ้างในฉวีวรรณ สัตยธรรม) ใกล้เคียงกับช่วงที่ทำแบบทดสอบ Posttest ผู้รับบริการจึงยังลังเลใจที่จะแนะนำหรือปฎิเสธที่จะแนะนำเนื่องจากไม่อยากรู้สึกว่าทำบาปมากยิ่งขึ้น

สรุปว่าสตรีที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่คลินิกวัยรุ่น รพ.ห้วยราช ก่อนเข้ารับบริการมีภาวะเครียด และมีอาการของภาวะซึมเศร้า หลังจากรับบริการพบว่าผู้รับบริการมีระดับความเครียดลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้าในเกณฑ์ปกติ

HEALTH_Vol40No2_05

ที่มา : การศึกษาภาวะซึมเศร้าของสตรีตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ โดย นพ.ภุชงค์ ไชยชิน นางวิจิตรา วาลีประโคน วารสารส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ฉบับ เมษายน – มิถุนายน 2560

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 1

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้