ข้อเท็จจริงคือ “กฎหมาย” ควรต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานทำให้แท้งลูก ได้ถูกใช้มากว่า 60 ปีแล้ว สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย

ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้หยิบยกเอาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 มาปรับปรุง โดยมีแนวโน้มให้ตีความสุขภาพครอบคลุมสุขภาพทางใจ และกรณีตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรมด้วย ปัจจุบันการพิจารณาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ

รูปธรรมปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยจากครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม ที่ผลักดันให้ผู้หญิงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ได้แก่ ฝ่ายชายทอดทิ้ง เสี่ยงต่อการให้ออกจากการเรียน หรือถูกให้ออกจากงาน ยากจนไม่สามารถเลี้ยงลูกที่เกิดมาได้ ตั้งครรภ์นอกสมรส ตั้งครรภ์กับผู้ที่มีภรรยาแล้ว ตั้งครรภ์ขณะสามีจำคุก-ไปเกณฑ์ทหาร มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น หรือ คุมกำเนิดแล้วเกิดพลาด นอกจากนี้พบว่าหลายกรณีผู้หญิงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เพราะต้องการมีอนาคตที่ดี

นอกจากการแก้กฎหมายให้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ควรมีมิติการปรับแก้ให้เกิดความเป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะในมาตรา 301 ที่ระบุว่า หญิงใดทำให้ตนแท้งลูก หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือ การตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดจากฝ่ายหญิงเท่านั้น กฎหมายนี้จึงจงใจละเลยการเอาผิดกับผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงท้อง ซึ่งขัดแย้งกับหลักการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันของชายและหญิงตามกฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ” นั่นเอง

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 1

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้