“การปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงท้องไม่พร้อม เป็นการนำพาผู้หญิง และเด็กๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนอนาคตของชาติ ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพกาย ใจ และสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ เป็นภาระของประเทศชาติ และส่งผลต่อความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า” 

นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล กล่าว
พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนถึงการศึกษาและข้อมูลจากต่างประเทศ โดย นพ.เดวิด เอ กริมส์  ได้เขียนงานศึกษาวิจัย
ไว้เมื่อปี 2558 เรื่องการปฏิเสธการทำแท้ง: ผลที่เกิดขึ้นกับแม่และเด็ก

การทำแท้งถือเป็นทางออกหนึ่งของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม แต่เมื่อทางออกนี้ถูกปฏิเสธ หรือ ไม่มีบริการ หรือเข้าถึงการบริการได้ยาก สุดท้ายผู้หญิงต้องคลอดทั้งๆ ที่ไม่พร้อมจะเลี้ยง อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น? มีข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่าเด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพเมื่อพวกเขาได้รับความรักและเป็นที่ต้องการในทางตรงกันข้ามเด็กที่เกิดมาจากความไม่พร้อม ไม่เป็นที่ต้องการ มักจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดเมื่อเติบโตขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษาที่วอชิงตัน ยังพบเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดต่อเนื่องมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 11 เท่า ในกรณีที่ระหว่างคลอดมีภาวะทารกขาดอ๊อกซิเจนและต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน พบว่ามีความสัมพันธ์กับการที่เด็กเติบโตขึ้นมาแล้วกลายผู้ก่ออาชญากรรมด้วย

และมีการศึกษาอีกชิ้นที่เมืองโกเตเบริก ประเทศสวีเดน โดยติดตามเด็กที่เกิดมาจากการที่ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมแต่ไม่สามารถทำแท้งได้ จนเด็กเหล่านี้เติบโตถึงอายุ 35 ปี เปรียบเทียบกับเด็กเพศเดียวกันที่คลอดในโรงพยาบาลเดียวกัน พบว่า ผู้หญิงที่ถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ทั้งหมด 197 คน ในจำนวนนี้ 68 คนลงเอยด้วยการไปทำแท้งที่อื่นซึ่งยืนยันว่าเธอไม่ต้องการท้องอีกต่อไป สำหรับในกลุ่มที่ไม่พร้อมแต่ต้องตั้งครรภ์ต่อจนคลอด และได้รับการติดตามจนเด็กเติบโต เป็นชายจำนวน 66 คน ผู้หญิง 54 คน ผลการติดตามต่อเนื่องพบว่า

  • มีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชสูงกว่า 2 เท่า
  • มีการกระทำความผิดมากกว่า 2 เท่า
  • มีการกระทำเป็นความผิดทางอาญาสูงกว่า 3 เท่า
  • ติดสุราสูงกว่า 50%
  • ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐระหว่างอายุ 16 – 21 ปี สูงมากกว่า 6 เท่า
  • มีปัญหาในการเรียนรู้สูงกว่า 2 เท่า

นอกจากผลที่เกิดกับเด็กที่เติบโตแล้ว  ยังส่งผลกับแม่ที่ต้องคลอดและเลี้ยงดูลูกในภาวะไม่พร้อมด้วย ดังต่อไปนี้

  • 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ถูกปฏิเสธทำแท้งมีความรู้สึกขุ่นเคือง น้อยใจ ไม่พอใจและถูกเก็บไว้ในใจเป็นเวลายาวนานที่ให้กำเนิดลูกที่เธอไม่ต้องการ
  • มีภาวะทางจิตในด้านการยอมรับเด็กที่เกิดมา
  • ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ศึกษา มีความตึงเครียดทางอารมณ์ ต้องได้รับการบำบัดเป็นระยะๆ
  • 1 ใน 4 มีความเจ็บป่วยทางจิตและมีความเครียดตลอดเวลา
  • มีความวิตกกังวล และ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ไร้คุณค่า
  • ส่วนใหญ่ต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากรัฐ
  • ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ไม่มีงานทำเต็มเวลา ทำให้ประสบกับความยากจน
  • ในกลุ่มที่ตัดสินใจยกมอบบุตรให้ผู้อื่น พบว่ามีความเศร้าโศกอย่างรุนแรง จนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลจากความผิดปกติทางจิตเวชที่รุนแรง

โดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล ผู้ประสานงานเครือข่ายRSA

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 2

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้