ประจำเดือน รอบเดือน ระดู หรือ เมนส์ มาจากภาษาอังกฤษว่า Menstruation เป็นสัญญาณบอกว่า “ฉันเป็นสาวแล้วนะ” และพร้อมที่จะตั้งครรภ์ได้แล้ว ผู้หญิงอย่างเราเกิดมาพร้อมกับไข่ประมาณ 250,000 ใบในรังไข่แต่ละข้าง แต่จะมีไข่ที่เติบโตทั้งหมดราว 400 กว่าใบเท่านั้น ในแต่ละเดือน ร่างกายจะปล่อยไข่ออกจากรังไข่หนึ่งใบ ไข่ใบนี้จะเคลื่อนไปตามท่อรังไข่ หรือปีกมดลูกไปยังมดลูก ถ้าไข่มีการผสมกับอสุจิในช่วงนี้ จะเกิดการปฏิสนธิ ซึ่งไข่ที่ผสมแล้วจะเคลื่อนตัวไปฝังที่ผนังมดลูกซึ่งหนานุ่มและเป็นบริเวณที่ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตต่อไป แต่ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสมร่างกายก็จะปล่อยให้ผนังมดลูกและไข่สลายตัวออกมาทางช่องคลอดกลายเป็น ประจำเดือน

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละรอบเดือน จะมีผลทำให้อารมณ์ของผู้หญิงเปลี่ยนไปได้ง่าย อย่างเช่น ในช่วงไข่ตก หญิงสาวอาจรู้สึกว่าตนเองมีพละกำลังเรี่ยวแรงแข็งขันมากขึ้น เซ็กซี่ขึ้น มีอารมณ์เพศสูงขึ้น ในช่วงที่ว่านี้ บางคนอาจกินจุ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห น้อยใจง่าย หรือจู่ๆ ก็เป็นพวกเจ้าน้ำตาโดยไม่มีสาเหตุ

ปัญหานี้แก้ไขได้ โดยต้องกินอาหารในปริมาณที่น้อย แต่บ่อยขึ้น ควรกินอาหารที่ให้โปรตีน ข้าว ผัก และผลไม้ ไม่ควรกินอาหารหวานจัด หรืออาหารที่ทำจากแป้ง งดน้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเพิ่มหลังจากออกกำลังกายจะช่วยปรับสภาพการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบของจิตใจให้มีสภาพสมดุลย์ ลดอาการหงุดหงิด กินเก่ง ลงไปได้

ก่อนที่รอบเดือนจะมา บางคนอาจมีอาการเจ็บหรือคัดตึงที่หน้าอก บางคนก็มีสิวขึ้นตามใบหน้าและท้องผูก การรับประทานผักผลไม้ให้มาก ลดปริมาณน้ำตาลและเกลือในอาหารลงบ้างจะช่วงให้อาการข้างต้นบรรเทาลง

ก่อนการมีประจำเดือนอาจมีอาการตกขาวหรือมูกใส (ไม่มีอาการคัน) ไหลออกมาจากช่องคลอด ไม่ต้องตกใจเพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ มี 2 ลักษณะคือ

  1. เป็นมูกใส ซึ่งมักจะมีในระยะกลางของรอบเดือนเมื่อไข่สุก ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการคัน
  2. เป็นสีขาวข้นคล้ายแป้งเปียก ซึ่งจะมีก่อนและหลังมีประจำเดือน ไม่มีกลิ่น บางทีก็มีสีเหลือง

ตกขาวผิดปกติ จะมีปริมาณมาก มีกลิ่นรุนแรง และคันช่องคลอดมีสีเหลืองปนเขียว หรือปนเลือด ซึ่งเกิดจากการรอักเสบในช่องคลอด เช่น การอับเสบของเชื้อรา หรือเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในช่องคลอด การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น หากมีอาการตกขาวผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและจะได้ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคลุกลามไปยังอวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ ของร่างกาย

แหล่งสืบค้นข้อมูล :
1. เพศศึกษาเพื่อเยาวชน www.teenpath.net มูลนิธิแพธทูเฮลท์
2. ปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 38

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้