ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดชั่วคราวที่ดีวิธีหนึ่ง และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง ประหยัด สามารถคุมกำเนิดได้ระยะเวลานาน เพื่อรอเวลาจนกว่าจะพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ โดยสามารถถอดห่วงอนามัยออกได้ง่าย ภาวะการเจริญพันธุ์กลับมาในระยะเวลาอันสั้น

ห่วงอนามัยคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นเหมือนรูปตัว T หรือรูปสมอเรือ ขดไปมาใส่ในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการฝังตัวของไข่ การใส่ห่วงอนามัยจะไปรับบริการใส่เมื่อใดก็ได้ (หากแน่ใจว่าไม่ตั้งครรภ์) ระยะเวลาที่เหมาะที่สุดคือภายใน 10 วันนับจากวันแรกที่มีประจำเดือน สามารถคุมกำเนิดได้นาน 5 และ 10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงอนามัย หลังใส่ห่วงแพทย์จะนัดตรวจเป็นระยะๆ ควรไปตามนัดหมายจนกว่าจะครบกำหนดถอดห่วงอนามัย

ภาพประกอบ : หน่วยงานวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเหมาะกับใครบ้าง

  1. อยู่ระหว่างให้นมบุตร โดยไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนมในช่วงที่ให้นมบุตร
  2. มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น สูบบุหรี่ ปวดศรีษะบ่อย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  3. มีปัญหาจากการใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น เช่น ไม่สะดวกในการใช้ถุงยางอนามัย ลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดบ่อยๆ หรือ ลืมไปฉีดยาคุมกำเนิดตามนัด
  4. ต้องการเว้นช่วงการตั้งครรภ์ และไม่ต้องการคุมกำเนิดถาวร

ชนิดห่วงอนามัยคุมกำเนิด แบ่งง่ายๆ ได้ 4 ประเภท

  1. แบบเคลือบฮอร์โมน (progestin-releasing IUDs) : ห่วงชนิดนี้จะเคลือบสารโปรเจสติน หรือเรียกง่ายๆ ก็ตามชื่อเลย ซึ่งสารดังกล่าวเป็นส่วนผสมของยาคุมกำเนิดด้วย
  2. แบบไม่เคลือบสาร (unmedicated or inert IUDs) : เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดของสาวๆ ชนิดแรก แต่ว่าจะมีการเคลือบสารซัลเฟตไว้ เพื่อให้ตรวจเจอโดยการเอ็กซ์เรย์ได้ อายุการใช้งานได้เรื่อยๆอย่างไม่มีกำหนด
  3. แบบไม่มีโครง (frameless IUD) : ห่วงอนามัยชนิดนี้ ไม่มีโครงพลาสติดเป็นรูปทรง มีแต่ทองแดงทรงกระบอกร้อยอยู่ในเส้นไหม ข้อดีคือมีขนาดเล็ก และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับตัวอื่นๆ
  4. แบบหุ้มทองแดง (copper IUDs) : เป็นห่วงอนามัยที่ได้รับความนิยมที่สุด มีโครงร่างแกนกลางเป็นพลาสติกรูปทรงต่างๆ และมีลวดทองแดงพันรอบๆ โดยสารทองแดงมีส่วนช่วยคุมกำเนิดอย่างมีนัยสำคัญ

เวลาที่เหมาะในการใส่ห่วงอนามัย แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ไม่เกี่ยวกับการคลอด
1. ขณะมีประจำเดือนหรือวันท้ายๆ ของการมีประจำเดือนจะเหมาะสมที่สุด เพราะหลังการใส่ห่วงอนามัยจะมีเลือดออกต่ออีก 1-2 วัน
2. ภายใน 10 วันแรกของรอบประจำเดือน เพื่อให้แน่ใจว่ายังไม่ตั้งครรภ์
3. ในกรณีที่คุมกำเนิดวิธีอื่นอยู่แล้วและไม่มีความผิดพลาด จะใส่ห่วงอนามัย ในช่วงใดของรอบประจำเดือนก็ได้
4. ถ้าไม่มีการร่วมเพศเลยในรอบเดือนนั้น ก็ใส่ได้เลย

ใส่หลังคลอดหรือหลังแท้ง
การใส่ห่วงอนามัยหลังคลอด : ทำได้ทั้งในช่วงแรกภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด หรือหลังคลอดทันทีภายใน 10 นาทีหลังรกคลอด ปัจจุบันไม่นิยมเพราะ ห่วงอนามัยหลุดง่าย หลังจากนี้ก็ควรใส่ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งจะกระทำได้ง่าย ภาวะแทรกซ้อนน้อย
การใส่ห่วงอนามัยหลังแท้ง : ทำได้ทั้งหลังแท้งทันที ถ้าไม่มีการอักเสบ หรือ การแท้งติดเชื้อ และหลังแท้ง 3 สัปดาห์

ผลดีของการใช้ห่วงอนามัย
1. ใส่ครั้งเดียว ป้องกันได้นาน เพราะอายุการใช้งานของห่วงอนามัยนั้นเฉลี่ย 5-10 ปีเลยทีเดียว ถือว่าประหยัดมากๆ
2. เหมาะสำหรับ คนที่ชอบลืมทานยาคุม หรือต้องคอยฉีดยาคุม
3. ไม่มีผลข้างเคียง เหมือนการใช้ยาคุมกำเนิด เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
4. ไม่ทำให้ความรู้สึกเรื่องบนเตียงลดน้อยลงไป
5. ใช้แล้ว ประจำเดือนยังคงมาปกติเหมือนเดิม
6. สำหรับคนที่มีบุตรแล้ว แต่อยากคุมกำเนิด ถ้าใช้วิธีนี้ ก็ยังให้นมตามปกติได้
7. สามารถถอดห่วงอนามัยได้ทันที เมื่ออยากตั้งครรภ์ ไม่ต้องคอยให้ยาหมดฤทธิ์เหมือนวิธีใช้ยาคุมกำเนิด ทั้งแบบทานและแบบฝัง

คำแนะนำหลังใส่ห่วงอนามัย : ควรตรวจสายห่วงเองที่บ้านทุกเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง หลังจากประจำเดือนหมด 2-3 วัน โดยล้างมือให้สะอาดใช้มือข้างที่ถนัด โดยสอดนิ้วกลางเข้าในช่องคลอด เพื่อคลำหาสายห่วงที่บริเวณปากมดลูก ถ้าคลำสายห่วงไม่พบ สายห่วงสั้น หรือยาวกว่าปกติ หรือพบว่าห่วงเลื่อนหรือหลุด ควรรีบกลับมาพบแพทย์ โดยเว้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางอนามัยไปก่อนจนกว่าจะเปลี่ยนห่วงอนามัยอันใหม่
มีผู้สงสัยว่าใส่ห่วงอนามัยเมื่อร่วมเพศฝ่ายชายจะรู้สึกเจ็บหรือไม่ : https://rsathai.org/contents/523

ภาพประกอบ : หน่วยงานวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
2-3 วันแรกหลังใส่ห่วงอนามัย อาจเกิดอาการปวดท้องน้อย หรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย หรือ เลือดออกกะปริดกะปรอย
3-4 เดือนแรกหลังใส่ห่วงอนามัย อาจมีอาการผิดปกติได้ ประจำเดือนออกมาก และนานกว่า อาจมีอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน และอาจมีตกขาวเพิ่มขึ้น หลังจากนั้น อาการต่างๆ จะหายไป

อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์

  1. ประจำเดือนขาด , ประจำเดือนกะปริดกะปรอย ออกผิดปกติ
  2. ปวดท้องน้อยเพิ่มขึ้น หรือปวดขณะร่วมเพศ
  3. ตกขาวสีผิดปกติ หรือมีกลิ่นผิดปกติไป
  4. รู้สึกไม่สบาย มีไข้หนาวสั่น

โดยในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการคุมกำเนิดยาฝังคุมกำเนิด/ห่วงอนามัย สำหรับวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี และทุกช่วงวัยหลังทำแท้ง/ยุติการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ข้อมูลสถานพยาบาลที่มีบริการยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยได้ที่ : https://rsathai.org/healthservice


ขอบคุณที่มา :

  1. การให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ คู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
  2. DKT Thailand
  3. เมื่อท้องไม่พร้อม : ชีวิตมีทางเลือก คุมกำเนิดป้องกันท้องไม่พร้อม
  4. หน่วยงานวางแผนครอบครัว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 26

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้