จากการเสวนาเชิงนโยบาย “ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย!: การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ!” จัดโดย โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ร่วมกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องสานใจ ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยการประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ วิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นต่างๆ จากกรณีศึกษา แลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องกฎหมายและการยุติการตั้งครรภ์ ประชาสัมพันธ์ความร่วมมือของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การเสวนาดังกล่าว รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำแท้ง ดังนี้คือ

  1. ไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกที่ตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง
  2. ไม่มีการทำแท้งเสรีอยู่จริงในโลกนี้ เพราะแต่ละบริการในแต่ละประเทศล้วนมีเงื่อนไขทั้งสิ้น เช่น อายุครรภ์ กำหนดว่าต้องทำที่ไหน ใครที่เป็นผู้ทำ และ
  3. กฎหมายทำแท้งทุกแห่งในโลกแบ่งผู้หญิงเป็น 2 ประเภท คือ ผู้หญิงที่สามารถทำแท้งได้ (Deserved abortion ) กับผู้หญิงที่ไม่สามารถทำแท้งได้ (Undeserved abortion) การทำแท้งได้จึงยังอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่านั้น อื่น ๆ ถูกกำหนดว่า ทำไม่ได้ แม้ว่าในความเป็นจริงของชีวิตการทำแท้งมาจากเงื่อนไขมากมายกว่าที่เงื่อนไขที่กำหนด
  • กรณีประเทศไทยทำแท้งได้ คือตามเงื่อนไขของมาตรา 305 และภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดว่าทำได้ ในทางปฏิบัติก็ยังมีการตีความ การรับรู้และการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกัน ยังมีตำรวจ นักข่าว ครู และประชาชนจำนวนหนึ่งที่คิดว่า กฎหมายไทยห้ามทำแท้งทุกกรณี
  • แนวทางการแก้ไขกฎหมายการทำแท้งจากทั่วโลกมาในทิศทางที่ไม่มีกฎหมายทำแท้ง การทำแท้งไม่ใช่ความอาญาอีกต่อไป แต่คือเรื่องสุขภาพ ตัวอย่างของประเทศแคนาดา ไม่มีกฎหมายเรื่องทำแท้งในกฎหมายอาญา แต่มีระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่ทำงานเรื่องบริการสุขภาพกำหนดกฎเกณฑ์เอง เว้นกรณีบังคับทำแท้งที่ยังเป็นการกระทำผิด ซี่งทางเลือกแบบนี้หากนำมาใช้ในประเทศไทย คือ ต้องไม่มีกฎหมายอาญาเรื่องนี้
  • ในกระบวนการแก้ไขกฎหมายต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมให้ความเห็นให้มากที่สุด โดยต้องไม่ลืมเจ้าของปัญหา ภาครัฐและภาคเครือข่ายภาคประชาสังคม
  • ต้องทำงานเรื่องทัศนคติกับสังคม โดยยังเคารพกับความเชื่อ ทัศนคติใด ๆ ที่มีอยู่ ไม่ต่อต้าน แต่ต้องเน้นเรื่องการสร้างความเข้าใจกับสังคมใหม่ว่า การทำแท้งเป็นเรื่องสุขภาพ เป็นบริการสุขภาพ ฉะนั้นผู้ให้บริการต้องไม่มีความผิดในการให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย เพราะผู้ให้บริการมีส่วนสำคัญมากในการช่วยเหลือผู้หญิง

ที่มา : บางส่วนบางตอนจากสรุปสาระสำคัญการเสวนาเชิงนโยบาย “ผ่าทางตันกฎหมายทำแท้งไทย!: การทำแท้งมิใช่ความอาญา แต่คือบริการสุขภาพ!” สรุปความโดย คุณสุมาลี โตกทอง

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 16

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้