วันนี้ ศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม (ไทยและต่างประเทศ) 55 องค์กร และผู้ร่วมลงช่ือสนับสนุนในเว็บไซต์ Change.org และลงช่ือกับกลุ่มทำทางรวม 569 รายช่ือ ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ต่อกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขอให้พิจารณาออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และจำเป็นบริการหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะหยุดดำเนินการ หรือชะลอการดำเนินการได้ โดยสถานบริการสุขภาพ ที่ให้บริการส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ในเครือข่ายอาสา RSA ที่มีอยู่ 142 แห่ง ใน 42 จังหวัด ขณะนี้ได้ลดลงเหลืออยู่เพียง 71 แห่งใน 39 จังหวัด และในจำนวนนี้มีเพียง 40 แห่งที่รับส่งต่อให้บริการจากจังหวัดอื่น หรือจังหวัดในเขตบริการสุขภาพเดียวกัน และมีหน่วยบริการเพียง 4 แห่งทั่วประเทศไทยที่ให้บริการสำหรับกรณีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

การที่สถานบริการยุติการตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งต้องปิดให้บริการ หรือชะลอการให้บริการ ซึ่งจากเดิมก็มีจำนวนจำกัดอยู่แล้ว ส่งผลให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม และต้องการยุติการตั้งครรภ์หันไปใช้ช่องทางอื่นที่ไม่ปลอดภัย ทั้งการสั่งซื้อยายุติการตั้งครรภ์ออนไลน์ซึ่งก็ประสบกับปัญหาไม่ได้รับยา เนื่องจากแหล่งยาออนไลน์ไม่สามารถนำยาเข้ามาได้เพราะมาตรการปิดประเทศ ทำให้บางคนต้องตัดสินใจไปรับบริการทำแท้งในสถานบริการที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต นับเป็นการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่งในประเทศที่มีบริการสาธารณสุขที่ดี และมีบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 

ข้อมูลจากสายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และกลุ่มทำทาง พบว่านับตั้งแต่มีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้ผู้หญิงต้องพบกับความยากลำบากในการเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นด้วยด้วยเหตุดังนี้ 

1. สถานบริการสุขภาพจำนวนหนึ่งหยุดให้บริการยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากมีภารกิจการค้นหาดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 

2. การส่งต่อไปรับบริการยังสถานบริการอื่นทำได้ยากเนื่องจากมาตรการปิดเมือง ทำให้ผู้รับบริการไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปรับบริการได้  

3. โรงพยาบาลที่ให้บริการมีการปรับลดจำนวนผู้รับบริการและมีความเข้มงวดในการรับส่งต่อจากพื้นที่เสี่ยงโรคติดเชื้อโควิด19 

ในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มชัดเจนว่า ยายุติการตั้งครรภ์ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ อาจเกิดการขาดแคลนได้ เนื่องจากโรงงานที่ผลิตยานี้ในประเทศอินเดียซึ่งประเทศไทยนำเข้า จะหยุดการผลิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มผลิตอีกครั้งเมื่อไร

ในขณะเดียวกันมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ยังมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากการใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันเพิ่มโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่มากขึ้น ขณะที่ประชาชนกลับเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด หรือใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ การต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถูกสั่งห้ามดำเนินกิจการ ถูกลดเวลาทำงาน ถูกเลิกจ้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขาดรายได้ ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลจากการปรึกษาท้องไม่พร้อมของสายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 พบว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้จะเลือกยุติการตั้งครรภ์มากขึ้นอันเนื่องมาจากความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจและสังคม

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานภาครัฐ วิชาการและภาคประชาสังคม ขอเรียกร้องให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาออกมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่จำเป็น โดยเฉพาะเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ในอายุครรภ์ที่มีความปลอดภัย และเพื่อให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการลดความเสี่ยงจากการแพร่และรับโรคติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้

  1. ประสานกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการเดินทางออกนอกเคหะสถาน และการเดินทางข้ามจังหวัดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้มีความเข้าใจถึงความจำเป็นในการเดินทางของผู้หญิง และอนุญาตให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปรับบริการที่สถานบริการนอกพื้นที่ได้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19
  2. ออกมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ด้วยการจัดหาและเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดชั่วคราวอย่างเพียงพอ และมีการกระจายอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงรวมทั้งจัดให้มีบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรที่เข้าถึงได้ ตามความพร้อมของสถานบริการโดยเฉพาะหลังยุติการตั้งครรภ์ 
    • แสวงหามาตรการในการบริหารจัดการ หรือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้ยายุติการตั้งครรภ์เกิดการขาดแคลนในอนาคตอันใกล้ 
  3. พิจารณาออกมาตรการ และดำเนินมาตรการบริการสุขภาพในระบบ Tele-medicine ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการดูแลรักษาทางไกลที่ช่วยให้ผู้รับบริการ และบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงต่อการติดต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยการปรึกษาออนไลน์ ก่อนและภายหลังการใช้ยาในผู้หญิงที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ที่มีผลตรวจอัลตร้าซาวด์ยืนยัน 
    • แจ้งสถานบริการสุขภาพภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขในทุกแห่งให้เปิดให้บริการ อัลตร้าซาวด์เพื่อทราบอายุครรภ์ให้ผู้หญิงเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องฝากครรภ์
  4. พิจารณาออกประกาศเผยแพร่ข้อมูลนโยบายการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยที่ชัดเจน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบ เพื่อดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันในการสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย
    • ดำเนินการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลระดับประเทศเกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาในการเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 
    • ออกประกาศให้สถานบริการเตรียมความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้หญิงที่มีอาการ   แทรกซ้อนจากการทำแท้ง หรือได้รับผลกระทบจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
  5. พัฒนานโยบาย และยุทธศาสตร์ในระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งควรเปิดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ หรืออย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง

ขอเชิญร่วมลงชื่อสนับสนุน : เพื่อมาตรการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 คลิกที่นี่ : https://bit.ly/3dRffp9

ชวนรับชมไลฟ์ย้อนหลัง : ยื่นจดหมายต่อ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอแนะต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ในช่วงโควิด19 : https://bit.ly/2y3gDpA

ที่มา : หมายข่าวเรื่อง ขอให้กรมอนามัยพิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

รวมลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1) ร้องปัญหายุติการตั้งครรภ์ช่วงโควิด-19 ที่มา : ThaiPBS

ร้องปัญหายุติการตั้งครรภ์ช่วงโควิด-19 ที่มา : ThaiPBS

2) Thai pro-choice activists push for tele-medicine abortion pills during COVID-19 outbreak ที่มา : https://thisrupt.co

Thai pro-choice activists push for tele-medicine abortion pills during COVID-19 outbreak
ที่มา : https://thisrupt.co

3) Thailand: Lockdown restricts women’s ability to obtain safe abortion during COVID-19 pandemic, says pro-choice group ที่มา : The Online Citizen

4) เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ผลักดัน ‘เทเลเมดิซีนยายุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์’ ที่มา : ประชาไท

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.6 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 14

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้