ตอนที่ 1

สถานการณ์ปัจจุบันคาดคะเนว่าประเทศไทยน่าจะมีอัตราการทำแท้งระหว่าง 14.2 – 440 ต่อพันการเกิดมีชีพ หรือประมาณ 9,000 – 270,000 ครั้งต่อปี แต่เพราะประเทศไทยแม้จะมีกฎหมายมาตรา 305 และข้อบังคับแพทยสภาที่อนุญาตให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมทำแท้งได้เฉพาะที่มีเงื่อนไขกำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ยากที่จะได้รับการทำแท้งจากแพทย์ได้โดยยังไม่มีช่องทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างเป็นระบบในโรงพยาบาลต่างๆ แพทย์ พยาบาล ไม่ยอมรับ ไม่ให้เกิดบริการนี้ บังคับไม่ได้ จุดยืนทัศนคติต่อต้าน ขาดความใส่ใจ ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งจริงๆ แม้ถูกข่มขืน ลูกพิการ ยังมีการปฏิเสธ เรื่องสุขภาพจิตที่มีสภาพเครียด ซึมเศร้า ถูกมองว่าไร้เหตุผล

ผู้หญิงจึงไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องเสาะหาการทำแท้งผิดกฎหมาย ที่แม้จะเสี่ยงตาย ติดเชื้อ ตกเลือดก็เอา ทำไมพวกเธอจึงกล้าทำ คงต้องเป็นผู้รับฟังอย่างตั้งใจให้กำลังใจเธอเท่านั้น จึงจะเข้าใจได้ ความจริงของชีวิตที่ต้องระทมทุกข์หากท้องต่อไป การทำแท้งที่ไม่ได้ผล ไม่แท้ง ทั้งไม่ปลอดภัย มีโอกาสตาย ผู้หญิงต้องเจอกับคนทำแท้งที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนวิธีทำนั้นมีวิวัฒนาการตั้งแต่ ฉีดน้ำเกลือ, น้ำยาล้างห้องน้ำเข้าไปในช่องคลอด มดลูก, เหล็กแหลมเข้าไปเจาะถุงน้ำ หรือใช้เหล็กขูดมดลูก ใส่ห่วงอนามัยเข้าไปในมดลูก ยาขับ ยาผง ลูกกลอนสมุนไพร จนถึงปัจจุบันจะซื้อยาทำแท้งออนไลน์ตามอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์เหล่านี้มีนับร้อยๆ เว็บ เธอเหล่านั้นก็เป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความปรารถนาเหมือนคนอื่นคือ มนุษย์ทุกคนต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ทุกคนรักสุข เกลียดทุกข์ กลัวตาย ทุกคนดีใจ ที่คนเห็นคุณค่าของตน

ความจริงข้างต้นเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้หญิงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาดูตัวเลขการตายของผู้หญิงที่ทำแท้งเถื่อน จากสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วง พ.ศ. 2548 – 2556 มี 21 – 34 รายต่อปี ผู้ที่เข้ารักษาโรคแทรกซ้อนจากการทำแท้งในโรงพยาบาล พ.ศ. 2548 – 2557 มีจำนวน 27,000 – 32,000 รายต่อปี

ทำให้สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หาทางแก้ไขปัญหานี้โดยได้ร่วมกับ Concept Foundation จัดการให้มีการทำวิจัยนำร่องเรื่องการศึกษาเชิงระบบการให้บริการยามิฟิพริสโตนและไมโซพรอสตอลที่บรรจุในแผงเดียวกัน (Medabon) เพื่อยุติการตั้งครรภ์ในระบบสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ เมษายน พ.ศ 2555 – เมษายน 2556 ในโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ 3 แห่ง, ศูนย์อนามัยขอนแก่น รวม 4 แห่ง และขยายการวิจัยต่อไปในเดือนตุลาคม 2556 – ตุลาคม 2557 ในอีก 5 โรงพยาบาลในต่างจังหวัด มีคณะแพทยศาสตร์ 2 แห่ง, แพร่, น่าน, เชียงราย

มีสรุปผลการศึกษาในโครงการนำร่องในโรงพยาบาล 4 แห่งแรกว่า มีผู้หญิงเข้าร่วมโครงการ อายุครรภ์ไม่เกิน 63 วัน หรือ 9 สัปดาห์ จำนวน 203 ราย ประสิทธิภาพของยาในการทำให้แท้งสมบูรณ์ร้อยละ 95 อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ส่วนผลที่ได้จากการศึกษาในอีก 5 โรงพยาบาลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ยาเมดาบอนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงเป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการ จึงจำเป็นในการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

ติดตามตอนต่อไปได้ที่นี่เร็วๆ นี้
เรื่องโดย นพ.เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 5 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 13

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้