เครือข่ายอาสา RSA เราคือแพทย์ 157 คนและสหวิชาชีพ 614 คนจาก 70 จังหวัด ที่ปฏิบัติงานในภาครัฐและเอกชน ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวมตามหลักวิชาการ ได้รับการแต่งตั้งและสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2557 ทำหน้าที่อาสารับส่งต่อวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจากสายด่วน1663 และหน่วยงานให้บริการปรึกษาท้องไม่พร้อม เพื่อให้ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เครือข่ายอาสา RSA สนับสนุนการพัฒนากฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กฎหมายไม่ควรละเมิดสิทธิต่อร่างกายและสุขภาพของผู้หญิง

1. สภาพปัญหาการทำแท้งไม่ปลอดภัย

การบาดเจ็บและตายของผู้หญิงไทยมีถึงปีละกว่า 3 หมื่นราย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่เรื้อรังยาวนาน ซึ่งต่อมาค่อยๆ ลดลง โดยลดเหลือ 20,000 หมื่นรายในปี 2562(2) ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือการส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์อย่างปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีการส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์จำนวน 55,308 ราย(3) ในจำนวนนี้ร้อยละ 17.6 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แม้ว่าจะลดลงไป แต่จำนวนผู้หญิงที่บาดเจ็บและตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยต่อปียังสูงกว่าผู้ติดเชื้อโควิด19 ในประเทศไทยถึงสามเท่า การทำแท้งไม่ปลอดภัยนี้ได้ส่งผลให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลถึงปีละกว่า 150 ล้านบาท ยังไม่รวมการสูญเสียชีวิตของผู้หญิงที่มิอาจประเมินค่าได้  

2. ทำไมเครือข่ายอาสา RSA จึงต้องชี้แจงความจริงเรื่องทำแท้ง

ตลอดระยะเวลาของการให้ข้อมูลและถกเถียงเพื่อพัฒนากฎหมายทำแท้ง มักใช้ความเชื่อ ทัศนคติ การตัดสินคุณค่าส่วนบุคคล มากกว่าองค์ความรู้วิชาการและสภาพความเป็นจริง กว่าทศวรรษที่เครือข่ายอาสา RSA รับส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ เรามีปณิธานในการอาสาช่วยเหลือชีวิตผู้หญิงให้ปลอดภัย โดยตระหนักว่าผู้หญิงท้องไม่พร้อมมีสิทธิที่จะได้รับบริการที่ปลอดภัยและดีที่สุดจากระบบบริการสุขภาพไทยอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อยุติปัญหาการบาดเจ็บและตายของผู้หญิงในประเทศไทย ในฐานะเครือข่ายที่มีองค์ความรู้และมีประสบการณ์และเวชปฏิบัติในอายุครรภ์ต่างๆ มากที่สุดในประเทศไทยได้สัมผัสชีวิตเข้าใจสภาพปัญหาของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เราจึงอยากเห็นกระบวนการพัฒนากฎหมายที่ใช้องค์ความรู้วิชาการงานวิจัยและเวชปฏิบัติและความจริงและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นหลัก โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความเชื่อส่วนบุคคลที่อาจพิสูจน์ความจริงไม่ได้  

3. การยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพ 

การยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการสุขภาพด้านหนึ่ง เพราะ 

1) มีแนวทางบริการโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(4) มีการปรึกษาให้ทางเลือกทั้งตั้งครรภ์ต่อและยุติการตั้งครรภ์ ติดตามดูแลอาการแทรกซ้อน และคุมกำเนิดป้องกันการแท้งซ้ำ 

2) ยายุติการตั้งครรภ์หรือ Medabon® เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 

3) รัฐ โดย สปสช. สนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์และการคุมกำเนิดหลังบริการ 

4) แพทยสภามีข้อบังคับรับรองการทำงานของแพทย์และมีการส่งรายงานบริการทุกราย 

การแก้ไขกฎหมายทำแท้งที่กำลังเป็นไปขณะนี้จึงควรมุ่งเน้นที่การรักษาชีวิตและสุขภาพของผู้หญิงเป็นสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยมีประชากรที่มีคุณภาพจากการที่ผู้หญิงได้ตั้งครรภ์เมื่อพร้อมและสมัครใจ(5) กฎหมายทำแท้งจึงไม่ควรเป็นอุปสรรคในการปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงที่ตัดสินใจไม่ท้องต่อ-ได้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดขององค์การอนามัยโลกที่ต้องการลดการสูญเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยด้วยการยกเลิกหรือลดความเป็นอาชญากรรมของการทำแท้ง ความอ่อนไหวเรื่องทำแท้งในสังคมไทยและการอยู่ภายใต้กฎหมายอาญา ส่งผลให้เป็นบริการสุขภาพที่แพทย์และสหวิชาชีพน้อยคนนักที่จะเปลืองตัวมาให้บริการนี้ ปัจจุบันจึงมีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ทั่วประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชนเพียง 85 แห่ง ในจำนวนนี้รับถึงอายุครรภ์ 20-24 สัปดาห์เพียง 4 แห่งเท่านั้น และทั้งหมดนี้อยู่ในเครือข่ายอาสา RSA

4. การทำแท้งที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์มีความปลอดภัย

องค์การอนามัยโลก(6) ได้ร้องขอให้นานาประเทศ ยกเลิกการขูดมดลูก และแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์โดย 1) การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ที่ใช้ได้ในทุกอายุครรภ์ หรือ 2) เครื่องดูดสุญญากาศ หรือ MVA (Manual Vacuum Aspirator) ที่ใช้อย่างปลอดภัยได้ถึงอายุครรภ์ 12 และได้ถึง 16 สัปดาห์สำหรับแพทย์ที่มีความชำนาญ

ในปี 2558 – 59 ประเทศไทยได้ทำการวิจัยถึงความปลอดภัยในการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป(7) เป็นการศึกษาในระดับนานาชาติร่วมกัน 4 ประเทศ (สวีเดน อินเดีย เวียดนาม และไทย) จำนวน 10 ศูนย์การศึกษา การศึกษาในประเทศไทยดำเนินการโดยคณะแพทย์ศาสตร์ 3 แห่งคือ จุฬาลงกรณ์ ศิริราช และรามาธิบดี โดยผู้วิจัยหลักทั้งสามท่านเป็นที่ปรึกษาของเครือข่ายอาสา RSA(8) การศึกษามุ่งเน้นประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ที่โรงพยาบาล โดยการเปรียบเทียบระยะห่างสองช่วงเวลาของการใช้ยาสองชนิด ผลการศึกษาพบว่าการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง มีอัตราการแท้งสมบูรณ์ในสองช่วงเวลาคือร้อยละ 99.5 และ 98.6 แต่ควรให้บริการในสถานพยาบาลเพื่อดูแลอาการตกเลือดที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้พบว่าการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ถึงอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ มีความปลอดภัยมากกว่าการคลอดเมื่อครบกำหนดถึง 20-27 เท่า(9)

5. ผู้หญิงที่ทำแท้งเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปมีเท่าไรทำไมจึงต้องให้ความสำคัญ 

ไม่มีใครทราบว่าผู้หญิงที่ทำแท้งในประเทศไทยมีเท่าไร ความเกรงกลัวต่อกฎหมายอาญาและการตีตราของสังคม ทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อไปไม่ได้ต้องแสวงหาบริการ “ใต้ดิน” หรือ หาซื้อยาทางอินเทอร์เน็ตที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในอายุครรภ์ที่มากซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำแท้งของผู้หญิงในประเทศไทย

มีการคาดประมาณการทำแท้งในประเทศไทยไว้ที่สามแสนครั้งต่อปี และฐานข้อมูลสายด่วน 1663 พบว่าร้อยละ 17.6 มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ จึงอาจประมาณการได้ว่าผู้หญิงที่ทำแท้งเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปมีราว 52,800 รายต่อปี หากกฎหมายอาญาเรื่องทำแท้งยังคงความผิดทางอาญาให้กับผู้หญิงกลุ่มนี้จะเป็นการผลักไสให้ผู้หญิงกว่า 5 หมื่นคนนี้หลุดออกจากระบบสุขภาพไปสู่บริการที่ไม่ปลอดภัยที่ทำให้ตกเลือดหรือเสียชีวิต ทั้งที่องค์ความรู้จากงานวิจัยมีความชัดเจนว่า การยุติการตั้งครรภ์มีความปลอดภัยสูงและควรทำในสถานบริการสุขภาพ  

6. จุดสมดุลของการคุ้มครองสิทธิผู้หญิงและตัวอ่อนในครรภ์คือที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์

กฎหมายทำแท้งควรสร้างสมดุลกับการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและตัวอ่อนในครรภ์ คือที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เพราะความหมายของ “การแท้ง” หมายถึงตัวอ่อน (embryo) ถูกขับหลุดออกมาจากมดลูกในระยะครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ คือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20-22 สัปดาห์ซึ่งน้ำหนักน้อยกว่า 500 กรัม (10) ข้อเท็จจริงทางการแพทย์คือ ตัวอ่อนในครรภ์จะออกมามีชีวิตได้จริงเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะโอกาสมีชีวิตของตัวอ่อนที่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์คือ 0% ที่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์คือ 0 – 10% และที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์คือ 40-70% ส่งผลให้การยุติการตั้งครรภ์หลังอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด เพราะว่าทารกมีโอกาสรอดชีวิตได้ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ส่งผลให้ยายุติการตั้งครรภ์ขึ้นทะเบียนบัญชียาหลักแห่งชาติให้ใช้ได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ 

ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA

นพ. เรืองกิตติ์ ศิริกาญจนกูล ผู้ประสานงานกลางเครือข่ายอาสา RSA  
นพ. อมร แก้วใส ผู้ประสานงานกลางเครือข่ายอาสา RSA  
นพ. บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้ประสานงานกลางเครือข่ายอาสา RSA
นพ. นิรันดร์ ชัยศรีสุขอำพร ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA ภาคกลาง  
นพ. วรชาติ มีวาสนา ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นพ. ชัชวาล ก่อสกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA ภาคใต้
นพ. สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสา RSA ภาคเหนือ

ข้อมูลอ้างอิง 
(1) ข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ RSATHAI.ORG
(2) ข้อมูลจากรายงานของ สปสช. 2548-2562
(3) ข้อมูลผู้รับบริการสายด่วน 1663 ที่มารับบริการระหว่าง มกราคม 2558 – มิถุนายน 2563
(4) คู่มือมาตรฐานการปฏิบัติติงานเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยแบบองค์รวม, 2561
(5) ยุทธศาสตร์ประชากรและอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
(6) Safe Abortion Guideline of WHO, 2012 and 2018 (พ.ศ. 2555 และ 2561)
(7) เอกสารสรุปผลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยา mifepristone และ misoprostol ในอายุครรภ์ 84-140 วันใน 4 ประเทศ 
(8) ผู้ดำเนินการศึกษา ศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รศ.พญ.อรวรรณ คิรีวัฒน์ และ ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย 
(9) คำนวนจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข
(10) WHO และ American Academy of Pediatrics and The American College of Obstetricians and Gynecologists (2017)

แถลงการณ์ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย-จากเครือข่ายอาสา-RSA-วันที่-3-มกราคม-2564

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.3 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 50

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้