วันนี้ จะเป็นวันสำคัญ!! ในวงการสิทธิมนุษยชนของไทย เพราะเป็นวันที่กฎหมายอาญา ม.301 และ 305 (ที่แก้ไขใหม่) มีผลบังคับใช้…..

การทำแท้งเป็นสิทธิของหญิง แล้วหมอมีหน้าที่ต้องทำแท้งให้หรือไม่?

7 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันสำคัญในวงการสิทธิมนุษยชนของไทยเพราะเป็นวันที่กฎหมายอาญา ม.301 และ 305 ที่แก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ตามใจสมัครถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยแยกเป็น 12 สัปดาห์แรกทำได้เอง ส่วน 12-20 สัปดาห์ต้องปรึกษากับหมอและให้หมอทำให้

ประเด็นที่เกิดคำถามก็คือเมื่อเป็น “สิทธิ” ของหญิงแล้วใครมี “หน้าที่”? หรือถามชัดๆ ก็คือหมอมีหน้าที่ “ต้อง” ทำแท้งให้หรือไม่ โดยเฉพาะหมอในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นเจ้าพนักงานถ้าปฏิเสธไม่ทำแท้งเพราะเหตุผลเรื่องความเชื่อ (conscientious objection) จะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่

เรื่องนี้อาจถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของรัฐสภา คือมองไม่จบทั้งกระบวนการ แต่ทำเท่าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ไปแก้ไขความสมดุลระหว่างสิทธิของหญิงกับสิทธิของทารกในครรภ์ เพราะศาลวินิจฉัยเท่าที่มีการยื่นคำร้อง แต่สภาต้องคิดให้ครบถ้วนว่าในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร

ในประเทศอังกฤษกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งคือ มาตรา 1 ของ Abortion Act 1967 แล้วมาตรา 4 ของกฎหมายดังกล่าวรับรองอย่างชัดเจนว่าการอนุญาตให้หญิงทำแท้งตามมาตรา 1 ไม่เป็นการบังคับให้แพทย์ต้องทำแท้งให้หญิง ถ้าการทำแท้งขัดแย้งกับความเชื่อของแพทย์ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่การปฏิเสธการทำแท้งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตหรือร่างกาย/จิตใจของหญิงอย่างร้ายแรงและถาวร ซึ่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมีใช้ทั่วไปในหลายประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยไม่มีข้อยกเว้นดังกล่าวแปลว่าหมอในไทย “ต้อง” ทำแท้งใช่หรือไม่ คำตอบต้องแยกก่อนว่าคนไข้นั้นวิกฤติ อยู่ในสถานะที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต สุขภาพกาย หรือสุขภาพจิตหรือไม่ ถ้าใช่ อันนั้นแพทย์ต้องรักษา (Non-maleficence) โดยแยกต่อไปอีกว่า ถ้าคนไข้ที่ยังไม่ได้รับไว้ดูแลเสียชีวิตทั้งที่แพทย์ช่วยได้ ดังนี้ แพทย์ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน อาจมีความผิดตามมาตรา 374 แต่ถ้ารับไว้ดูแลแล้ว ไม่ยอมรักษาและไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่คนไข้ไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับการรักษา จนคนไข้ได้รับอันตราย หรือเสียชีวิต ก็ไล่ระดับความรุนแรงของโรคและอาการไปได้ตั้งแต่ มาตรา 295 ถึงมาตรา 289 สูงสุดถึงประหารชีวิต ดังนั้นสิ่งที่แพทย์ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดทางอาญาจากการงดเว้นกระทำการ (omission) เมื่อมีหน้าที่ต้องรักษาคือถ้าการรักษานั้นขัดแย้งกับความเชื่อของตนเช่นการรักษาด้วยการทำแท้ง แพทย์ควรดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อส่งตัวต่อ หรือจัดการให้แพทย์ที่เหมาะสมมาดูแลแทนตน ถ้าทำแบบนั้นอย่างเต็มที่ก็ย่อมถือว่าไม่เป็นการงดเว้นและหลุดพ้นจากความผิดทั้งปวง แม้จะไม่ยอมรักษาด้วยตนเองก็ตาม

แล้วถ้าคนไข้ไม่วิกฤติล่ะ แต่อยากทำแท้ง เพราะท้องไม่พร้อม หรือเพราะเหตุใดๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสุขภาพ หมอปฏิเสธได้ไหม คำถามนี้ถ้าเป็นกรณีหมอโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกอันนี้ไม่มีปัญหาแน่ ๆ คือปฏิเสธได้เลย เหมือนคนไข้มาทำศัลยกรรมแล้วหมอปฏิเสธไม่ทำ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐจะมีมาตรา 157 เข้ามาเกี่ยวข้อง หมอจะปฏิเสธเฉยๆ ไม่ได้ เพราะหมอเป็นเจ้าพนักงานเป็นตัวแทนของรัฐซึ่งมีหน้าที่ต่อประชาชน หมอ รพ.รัฐ จึงต้องทำการแนะนำและส่งตัวเหมือนกรณีที่การตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ถ้าหมอทำก็จะไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าไม่ทำเต็มที่ให้เข้าระบบการส่งตัว หมออาจมีความผิดตามมาตรา 157 ได้ โดยหน้าที่ที่หมอละเว้นนั้นเป็นหน้าที่ส่งตัวไม่ใช่หน้าที่ทำแท้ง

โดยสรุปคือหญิงมีสิทธิทำแท้ง แต่แพทย์ไม่มีหน้าที่ต้องทำแท้งให้ คนที่มีหน้าที่ให้หญิงใช้สิทธิทำแท้งได้คือรัฐบาล ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เพียงแต่แพทย์ที่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องส่งต่อคนไข้ทำนั้นเอง

เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขควรจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยเรื่องทำแท้งให้ชัดเจน หรือส่งเสริมระบบที่มีอยู่แล้วและทำงานอย่างดีเยี่ยมอย่าง RSA ให้มีทรัพยากรที่เพียงพอ เพราะถ้ารัฐบาลไม่ทำย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของหญิงที่ตั้งครรภ์ และจะให้ดีควรจัดระบบให้หญิงสามารถทำแท้งโดยใช้ยาเหน็บ หรือยา medabon ได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะ 12 สัปดาห์แรก จะได้ลดความเสี่ยงของทั้งหญิงและหมอที่เกี่ยวข้อง

ขอขอบพระคุณข้อมูลโดย ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา : https://facebook.com/100002462825367/posts/3732145410210850/

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.7 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 13

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้