๒๐ ม.ค. ๖๔
เนื่องจากขณะนี้กำลังมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อหญิงที่ท้องไม่พร้อม ผมขอเผยแพร่บทความที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ในการเป็นสูติแพทย์เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจและเห็นใจหญิงที่มีความทุกข์จากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทุกคน

60. Humanized health care (การดูแลคนไข้ด้วยหัวใจบนพื้นฐานความรู้)

โดย นพ.พิษณุ ขันติพงษ์

วันก่อนผมมีโอกาสเป็นวิทยากรในการอบรมปฏิบัติการ แพทย์และพยาบาลเรื่อง “การดูแลวัยรุ่นและสตรีท้องไม่พร้อมเพื่อป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย” จัดโดย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรี(แห่งประเทศไทย)ร่วมกับ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ”จริยธรรมวิชาชีพ กับการแท้งที่ปลอดภัย”

ผมต้องขอชื่นชม ศ.เกียรติคุณ นพ.กำแหง จาตุรจินดา ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิฯ ที่พยายามสร้างความเข้าใจให้คนในสังคมไทยทราบข้อเท็จจริง และยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในบ้านเราเป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้ว เนื่องจากหลายคนยังเข้าใจผิดว่ามี NGO และแพทย์บางกลุ่มต้องการเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพื่อการทำแท้งเสรี

ที่จริงแล้วไม่มีการทำแท้งเสรีอย่างแน่นอน แต่ต้องเป็นเฉพาะกรณีที่มีข้อบ่งชี้ ไม่ว่าจะด้วยปัญหาทางสุขภาพของแม่ หรือเด็กในครรภ์ หรือทางสังคม ซึ่งต้องมีการพิจารณาจากสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ พัฒนาสังคมและอื่นๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์เป็นสำคัญ เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากทำแท้งโดยหมอเถื่อนที่ทำให้เสียชีวิต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง และเพื่อให้หญิงเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าในสังคม

เรามีกฎหมายอาญาที่อนุญาตให้แพทย์ทำแท้งได้ในกรณีที่การตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของมารดา หรือในกรณีที่เกิดจากการถูกข่มขืน ทำให้สูติแพทย์และทีมงานมีความลำบากใจในการสิ้นสุดการตั้งครรภ์กรณีเด็กในครรภ์มีความผิดปกติทางโครโมโซม หรือมีความพิการที่รุนแรง เนื่องจากกฎหมายไม่ระบุไว้

อย่างไรก็ตาม ผมในฐานะสูติแพทย์ก็ปฏิบัติมาโดยตลอด เพราะดีกว่าทิ้งให้เป็นปัญหากับพ่อแม่ ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้นสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของเด็กได้ตั้งแต่ในครรภ์ เมื่อรู้ว่าเด็กในครรภ์ไม่ปกติ มีความพิการอย่างรุนแรง แม่ทุกคนไม่อยากให้ลูกเกิดมาเพื่อทุกข์ทรมาน ซึ่งผมถือว่ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจน

ขณะเดียวกันในกรณีแม่ที่ตั้งครรภ์หลังการทำหมัน หรือคุมกำเนิดด้วยวิธีที่เหมาะสมแล้ว หรือตั้งครรภ์ขณะยังไม่พร้อม เช่น กำลังเรียนหนังสือ หญิงเหล่านี้ไม่มีใครทราบ หรอกว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง หลายๆ คนรวมทั้งแพทย์ พยาบาลต่างตัดสินว่าเป็นคนไม่ดีที่ต้องการทำลายลูกในท้อง ตั้งแต่มาขอคำปรึกษา หลายคนต่อว่าด้วยถ้อยคำที่เหมือนกับว่าหญิงเหล่านี้เป็นฆาตกร ในมุมมองของผมนั้นมองว่าหญิงเหล่านี้ เป็นคนไข้ที่กำลังมีความทุกข์จากการท้องไม่พร้อม ผมพบว่าหญิงเหล่านี้บางคนไม่ต้องการที่จะทำแท้ง แต่ด้วยเหตุผลทางสังคมทำให้มีความจำเป็น แพทย์ พยาบาล บางคนมุมมองปัญหาเหล่านี้เปลี่ยนไปเมื่อเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวหรือต้องเสียคนไข้จากการทำแท้งไม่ปลอดภัย

ผมจำได้ว่าหลายปีมาแล้วมีผู้หญิงคนหนึ่งมีลูก 2 คน คนโต 5 ขวบ คนเล็ก 2 ขวบ ทำหมันแล้ว สามีทำงานไฟฟ้า สามีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตกเสาไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าช๊อตขณะปฏิบัติงาน 2 เดือนต่อมา คลำได้ก้อนที่ท้องน้อยจึงมาตรวจที่รพ. แพทย์พบว่าตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน คนไข้ตกใจมากไม่คิดว่าจะตั้งครรภ์ เพราะทำหมันแล้ว หญิงคนนี้มีความเครียดมาก เพื่อนบ้านต่างก็ลือว่ามีชู้ ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก หลังสามีเสียชีวิตเพราะเป็นกำพร้าทั้งสองฝ่าย ไม่มีญาติสนิท ไม่ได้ทำงาน

นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาไปเยี่ยมที่บ้าน พร้อมให้ความเห็นว่าควรทำแท้งเนื่องจากถ้าเก็บเด็กไว้จะลำบากมากทั้งแม่และลูก ขณะนี้ไม่มีใครดูแลลูกทั้งสองคน ไม่มีงานทำ หญิงคนนี้ต้องการตั้งครรภ์ต่อเพราะกลัวบาปถ้าจะทำแท้ง แต่เมื่อไม่สามารถเก็บไว้ได้ จึงตัดสินใจทำแท้ง ก่อนทำได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการทำแท้ง การดูแลตัวเองหลังแท้งอย่างละเอียดจากทีมงานสหวิชาชีพ

สมัยนั้นยังไม่มียาที่ใช้ได้ผลในการทำแท้ง ผมใช้วิธี condom balloon ในการทำแท้ง ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากมากต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด จำได้ว่าขณะทำได้พูดปลอบใจคนไข้ให้ลืมเหตุการณ์นี้ และเลี้ยงลูกทั้งสองคนอย่างดีที่สุด การทำแท้งประสบความสำเร็จ คนไข้ปลอดภัย จนวันที่อนุญาตให้กลับบ้านได้ คนไข้เปลี่ยนชุดพร้อมกลับบ้านแล้ว

ผมพบว่า เธอนั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นบนเตียง ผมสอบถาม จึงรู้ว่าเธอรู้สึกด้อยคุณค่าในชีวิต เธอถามผมว่าเธอเป็นคนบาป เธอฆ่าลูกตัวเอง เธอต้องตกนรกใช่ไหม? ผมสอบถามจึงทราบว่ามีจนท.รพ.หลายคนที่เดินผ่านแล้วต่อว่าเธอว่าฆ่าลูกตัวเอง คนบาป ตกนรกแน่ เป็นการตอกย้ำเธอในสิ่งที่เธอไม่อยากทำ

ผมคิดถึงคำว่า “อัตตานัง อุปมัง กะเร” ซึ่งหมายความว่า “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” พวกเราทำงานอยู่ใน “ธนาคารชีวิต” ที่ทุกคนต่างเอาชีวิตมาฝาก เราจึงควรทำหน้าที่ของเราให้สมกับที่เขาไว้ใจเรา วางใจเรา แต่พวกเราบางคนชอบพูดจาประชดประชันคนไข้ มักตัดสินเขาด้วยความคิดของเราเองโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง เมื่อไรที่คนไข้ไม่คล้อยตาม เรามักจะต่อว่าเสมอโดยไม่ฟังเหตุผลใดๆ คนไข้คนนี้รู้สึกแย่อยู่แล้วที่ต้องทำแท้ง แต่เรากลับซ้ำเติมเขาให้แย่ลงไปอีก แทนที่จะช่วยกันยกระดับจิตใจเขาให้ดีขึ้น ให้สามารถผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยดี ยังคงมีคุณค่าชีวิตที่จะต่อสู้ชีวิตต่อไปเพื่อลูกน้อยทั้งสองคนที่รออยู่ ผมมักใช้คำพูดในกรณีเช่นนี้ว่า “เมื่อช่วยเขาแล้ว ทำไมไม่ช่วยให้ถึงที่สุด” นี่แหละเป็นตัวอย่างในการดูแลคนไข้แบบองค์รวม (กาย จิต วิญญาณและสังคม)

ปัจจุบันมีการแก้ไขข้อบังคับแพทยสภาเกี่ยวกับการทำแท้งที่เปิดกว้างขึ้นให้แพทย์สามารถทำแท้งได้ภายใต้เงื่อนไขที่แพทยสภากำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สมัยก่อนผมจำได้ว่าผู้หญิงมีรอบเดือนครั้งแรกอายุ 15-16 ปี ปัจจุบันเด็กหญิงจำนวนมากมีรอบเดือนตั้งแต่อายุ 9-10 ปี ในอดีตการมีเพศสัมพันธุ์ครั้งแรกจะเป็นในคืนแต่งงานแต่ปัจจุบันเริ่มมีตั้งแต่อายุเฉลี่ยเพียง 12 ปีเท่านั้น พวกเราจึงต้องเปิดใจให้กว้างในการดูแลปัญหานี้ หลายคนมุ่งเน้นแต่การทำงานเชิงรุกจนลืมคิดไปว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้วเราจะปฏิเสธการดูแลคนเหล่านี้ได้อย่างไร

ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ทำแท้ง ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของแพทย์ทุกคนที่จะให้การรักษา อาจทำเองหรือส่งต่อเพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์เป็นสำคัญ แต่สำหรับสูติแพทย์นั้นถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องให้บริการทำแท้งได้เพราะหน้าที่ของเราคือ ให้แม่ปลอดภัยและลูกที่สมบูรณ์

สำหรับกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางสังคมตามเงื่อนไขของแพทยสภา แพทย์และทีมงานสามารถดำเนินการได้ ถ้าไม่ทำแท้งเองก็ควรส่งต่อให้แพทย์ท่านอื่นที่ยินดีให้บริการ ผมขอร้องให้แพทย์ผู้ส่งต่อกรุณาชื่นชมและขอบคุณแพทย์ที่ทำแทนด้วย

ปัจจุบันมียาที่สามารถช่วยให้การทำแท้งสะดวกและปลอดภัยขึ้น แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงจะปลอดภัยแน่นอน

ผมขอชื่นชมและขอบคุณแพทย์กลุ่มหนึ่งพร้อมด้วยพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ที่รวมตัวกันอาสาสมัครทำแท้งให้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ภายใต้เงื่อนไขที่แพทยสภากำหนด (กลุ่ม RSA : Referral System for Safe Abortion) ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ คนกลุ่มนี้ทำโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากต้องการช่วยเหลือหญิงที่ท้องไม่พร้อมให้ปลอดภัยจากการทำแท้ง สถานบริการและหญิงตั้งครรภ์สามารถขอคำปรึกษาผ่านทาง Call Center 1663 ได้ทุกเวลา จะมีการประสานงานกับกลุ่ม RSA เพื่อส่งต่อตามขบวนการให้คำปรึกษาและปฏิบัติตามขั้นตอนในการช่วยเหลือหญิงท้องไม่พร้อมอย่างครบวงจร

ผมหวังให้พวกเราเห็นใจหญิงที่ท้องไม่พร้อมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด เพราะไม่มีผู้หญิงคนใดที่ต้องการท้องเพื่อทำแท้ง ผู้ให้บริการทางการแพทย์ควรคิดเสมอว่า “แม้ว่าไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง แต่ก็จะไม่ขัดขวาง หรือต่อว่าในการตัดสินใจของหญิงที่ท้องไม่พร้อม “เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและให้โอกาสผู้หญิงเหล่านี้กลับมามีคุณค่าให้สังคมต่อไป

โดยประสบการณ์ของผมมีหญิงสาวหลายคนที่ผมเคยทำแท้งให้เอง หรือส่งต่อให้เพื่อนแพทย์ สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก และอื่นๆ อีกมาก ถือเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในสังคมไทย ผมอยากบอกเพื่อนแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนว่าไม่มีแพทย์คนไหนอยากทำแท้ง

ผมพูดเสมอว่า “ผมไม่ใช่หมอทำแท้ง ผมก็เป็นหมอรักษาโรคเหมือนหมอคนอื่นๆ เพียงแต่ผมมองว่าหญิงที่ท้องไม่พร้อมเป็นคนไข้คนหนึ่งที่กำลังทุกข์จากการท้องไม่พร้อมและกำลังรอให้หมอรักษา เช่นกัน”


“ขอบคุณที่เป็นคนดี”

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.8 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 16

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้