“เลี้ยงลูกมันไม่ง่ายเหมือนเล่นตุ๊กตา” คำพูดของแพทย์หญิงท่านหนึ่งที่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เธอเข้าใจ เคารพการตัดสินใจ และให้บริการที่ปลอดภัยทำให้ผู้หญิงไม่บาดเจ็บหรือตายจากการทำแท้งเถื่อน แต่กลับถูกตั้งข้อกล่าวหาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ฐานทำให้แท้งและมีการออกหมายจับและสอบสวนผู้หญิงที่มารับบริการด้วย…

นับจากตรงนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อแก้กฎหมายทำแท้งที่เก่าแก่และใช้มานานมากกว่า 60 ปี เพราะการยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่อาชญากรรม แต่คือหนึ่งในบริการสุขภาพ ที่แพทย์ควรให้บริการกับผู้หญิงที่ประสบปัญหาได้อย่างมีศักดิ์ศรี.. “ในบางประเทศ การแก้กฎหมายเป็นไปได้เมื่อมีแพทย์ถูกจับ ถ้าหมอจะต้องเป็นคนคนนั้น หมอก็ยินดี”

เริ่มจากเครือข่ายท้องไม่พร้อม และเครือข่ายอาสา RSA ยื่นคำร้องต่อสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินในวันสตรีสากลที่ 8 มีนาคม ผ่านไปสองเดือนได้รับคำตอบว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยศาลฯ รับคำร้องเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน การพิจารณาดำเนินไปอย่างช้าๆ เกือบสองปีผ่านไปในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดว่าหญิงที่ทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในปีเดียวกันก็ได้มีคำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน “ยกฟ้อง” แพทย์และผู้หญิงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน

คดีประวัติศาสตร์นี้ ได้นำมาสู่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งใหม่ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
หมายความว่าจากนี้ไป การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย สามารถทำได้ในกรณีต่อไปนี้

1) อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ที่ผู้หญิงยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
2) อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ที่ผู้หญิงเข้ารับบริการปรึกษาทางเลือกในหน่วยบริการที่ได้รับการรับรอง
3) การตั้งครรภ์ที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
– มีความเสี่ยงต่อสุขภาพทางกายของหญิง
– มีความเสี่ยงต่อสุขภาพทางจิตใจของหญิง
– ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการรุนแรง
– ผู้หญิงยืนยันว่าถูกข่มขืน ล่อลวง บังคับ ข่มขู่ จนทำให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องแจ้งความ
– ผู้หญิงมีอายุน้อยกว่า 15 ปี นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้ตั้งครรภ์


การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อลดความเป็นอาชญากรรมของการยุติการตั้งครรภ์ คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากกลุ่มแพทย์ที่ไม่เพิกเฉยต่อความทุกข์ยากของผู้หญิง พร้อมเข้าใจและช่วยเหลือให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้พ้นทุกข์ การให้บริการยุติการตั้งครรภ์จึงเป็นภารกิจที่ทำหน้าที่อย่างสมเกียรติในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม..

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.6 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 9

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้