เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถช่วยให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัยมากขึ้น
โดยองค์การอนามัยโลกกําหนดให้การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1) การดูดเนื้อรกจากโพรงมดลูก (Manual Vacuum Aspiration: MVA)
วิธีการนี้สามารถทำได้จนถึงอายุครรภ์ประมาณ 10 – 12 สัปดาห์ อุปกรณ์ที่ใช้งานดังกล่าว มีลักษณะเป็นหลอดพลาสติกขนาดต่างๆ ประกอบ คู่กับกระบอกดูดสุญญากาศ เมื่อแพทย์สอดหลอดพลาสติกเข้าไปในโพรงมดลูกสามารถดูดชิ้นเนื้อออกจากโพรงมดลูกได้ ซึ่งสามารถทำให้เกิดการแท้งสมบูรณ์ได้เกือบร้อยละ 100

ในประเทศไทยมีความพยายามที่จะยกเลิกวิธีการยุติการตั้งครรภ์ด้วยการขูดมดลูก (D&C: Dilatation and Curettage หรือการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อนําเอาเนื้อเยื่อของมดลูกออกมา) และแทนที่ด้วยวิธีการดูดเนื้อรกจากโพรงมดลูก (MVA) โดยกระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดอบรมสูตินรีแพทย์ให้มีทักษะในการใช้ MVA อย่างกว้างขวาง ปัจจุบัน สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จะใช้วิธีการนี้ในการยุติการตั้งครรภ์ซึ่งสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องมีการพักค้างคืน

2) การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ยาที่ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ ที่ใช้กันในปัจจุบันและได้รับการยอมรับ โดยองค์การอนามัยโลก คือ Mifepristone (หรือที่รู้จักกันในชื่อ RU486) และ Misoprostol (หรือที่รู้จักกันในชื่อการค้า Cytotec®) วิธีการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.1 การใช้ยา Mifepristone (RU486) ร่วมกับ Misoprostol ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 9 สัปดาห์
ประเทศไทยได้นำวิธีการใช้ยาร่วมนี้มาให้บริการนำร่องในโรงพยาบาล เพื่อกําหนดแนวทางในการให้บริการที่เหมาะสมมาต้ังแต่ ปี 2554 ซึ่งพบว่า เกิดการแท้งสมบูรณ์ถึงร้อยละ 97 และในระหว่างปี 2558 – 2559 ประเทศไทยได้มีการศึกษาทางคลินิก สําหรับการใช้ยาสองขนานนี้ที่อายุครรภ์ 9 – 14 สัปดาห์ โดยเป็นการศึกษาร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก 10 ประเทศ และกําลังอยู่ในระหว่างประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล เพื่อให้ได้สูตรยาและวิธีการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ

1.2 การใช้ยา Misoprostol เพียงอย่างเดียว ในกรณีที่อายุครรภ์อยู่ในช่วง 12 – 20 สัปดาห์ สามารถทําให้เกิดการแท้งสมบูรณ์ได้มากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป วิธีการนี้มีข้อกำหนดให้ใช้ในโรงพยาบาลสําหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์จัดทำ “แนวทางการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เป็นแนวทางในการให้บริการด้วย สามารถคลิกดูรายละเอียดแนวทางได้จากลิงก์ : https://rsathai.org/contents/305

ร่วมติดดาวให้เนื้อหาที่ท่านชื่นชอบ

คลิกที่ดาวเพื่อติดดาวให้เนื้อหานี้

จำนวนดาวเฉลี่ย 4.8 / 5. จากการติดดาวทั้งหมด 29

ยังไม่มีการติดดาวให้กับเนื้อหานี้... เป็นคนแรกติดดาวให้เนื้อหานี้